โบรกชี้ Adder ครบกำหนดปี 68-69 ฉุดงบโรงไฟฟ้า SPCG EA GUNKUL

03 ก.ค. 2567 | 23:00 น.

"วิจิตร อารยะพิศิษฐ" มองค่า Adder ที่ใกล้ครบกำหนดในปี 68-69 กดดันผลการดำเนินงาน SPCG EA GUNKUL แต่เชื่อภาคเอกชนวางแผนรับมือกระจายความเสี่ยงไว้แล้ว แนะลงทุนเก็งกำไรระยะสั้นกลุ่มพลังงานต้น-กลางน้ำ PTTEP SPRC ก่อนงบไตรมาส 2/67 ออก

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า จากนโยบายรัฐบาลชุดก่อนที่มีการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบของค่า Adder ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) จะได้รับค่า Adder ในอัตรา 8 บาท/หน่วย เป็นเวลา 10 ปี

โดยสัญญาแรกเริ่มจ่ายเดือนธันวาคม 2554 และสิ้นสุดสัญญาในเดือนสิงหาคม 2565 แต่ต่อมาในปี 2556 ได้มีการปรับลดค่า Adder ใหม่เป็น 6.5 บาท/หน่วย สัญญาแรกเริ่มจ่ายเดือนธันวาคม 2556 และสัญญาสุดท้ายสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2569

ด้วยผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงทำให้เป็นแรงจูงใจเพื่อให้ภาคเอกชนมีการลงทุนกันมากขึ้น ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการโดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนเป็นจำนวนมากเข้าร่วมประมูลชิงงานโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

ซึ่งผู้ที่ได้รับสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ผลิตไฟฟ้า (PPA) รายแรกๆ คือ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG, บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA และ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เป็นต้น

ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนกลุ่มนี้ในช่วงที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตที่ดีและมีเสถียรภาพมาอย่างต่อเนื่อง แต่มาในปัจจุบันด้วยระยะเวลาที่ผ่านมานานหลายปีทำให้สัญญา PPA ที่เหล่าบริษัทจดทะเบียนและเอกชนรายย่อยอื่นๆ เริ่มทยอยหมดลงในปี 2568 และสิ้นสุดโค้งสุดท้ายในปี 2569

ทำให้ผลการดำเนินงานการเริ่มปรับตัวลดลง เพราะรายได้ที่เคยได้รับเมื่อหมด Adder ลงก็หายไปกว่าครึ่ง จากเดิมที่เคยได้รับในอัตรา 6.5-8 บาท/หน่วย ก็ลดลงเหลือเพียงค่าไฟฐาน ที่เฉลี่ยประมาณ 4 บาท/หน่วย (ค่าไฟฐานแต่ละโครงการไม่เท่ากัน)

นอกจากนี้ โครงการพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ ถูกปรับสูตรอัตราการรับซื้อไฟฟ้าเป็นรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) แทน ทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับลดลงมากกว่าเมื่อเทียบกับโครงการเก่าๆ  แต่มองว่าผู้ประกอบการเอกชนมีการวางแผนรับมือดังกล่าวกันไว้แล้ว

จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาทั้ง SPCG EA GUNKUL ได้มีการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ เพื่อหาส่วนอื่นมาชดเชยรายได้จากช่องทางเดิมที่ลดลง หาธุรกิจใหม่มาช่วยสร้างรายได้เพิ่ม และเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของรายได้เพิ่มมากขึ้น
 

โดยมองว่าแม้อัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบันจะถูกปรับมาใช้เป็นในรูปแบบของ FIT แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าการรับรู้รายได้จากกการขายไฟฟ้าน้อยกว่าและอาจไม่จูงใจเท่าได้รับกับการลงทุนที่ได้รับค่า Adder มาเสริม แต่มองว่าด้วยต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวลดลงมาในระดับหนึ่งแล้ว ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าที่ได้รับถูกคำรนวนได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ แม้กำไรที่จะได้รับอาจไม่สูงมากเมื่อเทียบกับในอดีต แต่ทางฝ่ายก็มองว่ากำไรที่ได้จากนี้จะสงเหตุสมผลมากขึ้น

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าความน่าสนใจในการลงทุนหุ้นกลุ่มพลังงานในปัจจุบันอาจไม่มากนักเมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ในตลาด และค่อนข้างที่จะเล่นยากพอสมควร เพราะมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้ผลการดำเนินงานและธุรกิจมีความไม่แน่นอน เช่น แดดออกน้อย ฝนตก การเก็บไฟฟ้าอาจทำได้ไม่ดี

แต่ก็มองว่ายังพอลงทุนได้อยู่บ้าง เพียงแต่อาจเป็นการเก็งกำไรในระยะสั้นๆ ในหุ้นกลุ่มที่เป็นพลังงานต้นน้ำ และกลางน้ำ เช่น PTTEP (ราคาเป้าหมาย 185.00 บาท/หุ้น) และ SPRC (ราคาเป้าหมาย 10.00 บาท/หุ้น)

อย่างไรก็ตาม ด้วยคาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานในกลุ่มดังกล่าวในช่วงไตรมาส 2/2567 ที่กำลังจะออกจะอาจไม่ดีนัก และอ่อนตัวกว่าเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ทำให้แนะนำว่าเก็งกำไรก่อนช่วงงบออกจะดีกว่า หลังจากนั้นสามารถกลับมาเล่นรอบใหม่ได้

ในขณะที่ช่วงครึ่งหลังปี 2567 มองว่าผลการดำเนินงานเริ่มกลับมามีสัญญาณที่ดีขึ้น เพราะเข้าสู่ช่วงไฮซีซันการขับขี่ในสหรัฐฯและยุโรป ทำให้ความต้องการแก๊สโซลีนเพิ่มขึ้น ดูได้จากสัญญาณราคาแก๊สโซลีนที่เริ่มสูงขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2/2567