ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 5ก.ค. “แข็งค่า” ที่ระดับ 36.62 บาทต่อดอลลาร์

05 ก.ค. 2567 | 01:12 น.

ค่าเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.50-36.70 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ข้อมูลการจ้างงานสหรัฐ และช่วงตลาดทยอยรับรู้ข้อมูลการจ้างงานสหรัฐประเมินกรอบเงินบาท 36.35-36.85 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 5ก.ค. 2567  ที่ระดับ  36.62 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.65 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า  แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways แถวโซน 36.50-36.70 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ

โดยเรามองว่า เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากการแข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หากผลการเลือกตั้งทั่วไปสะท้อนว่า พรรคแรงงาน (Labour party) สามารถคว้าเสียงข้างมากในสภาได้จริงตามผล Exit Polls ที่ออกมา

 ทั้งนี้ จากสถิติในอดีตตั้งแต่ปี 1990 พบว่า การแข็งค่าของเงินปอนด์ในระยะสั้นอาจเป็นไปอย่างจำกัด อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในช่วงคืนวันศุกร์นี้ (เวลาราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) อนึ่ง เงินบาทก็อาจผันผวนไปตามทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติได้เช่นกัน หลังล่าสุด ดัชนี SET เริ่มมีแนวโน้มกลับตัว รีบาวด์ขึ้นได้บ้าง เปิดโอกาสให้ในระยะสั้น

 นักลงทุนต่างชาติอาจทยอยเข้าซื้อหุ้นไทยได้บ้าง แต่ก็อาจรอขายในจังหวะที่ดัชนีติดโซนแนวต้าน หากไม่ได้มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุน หรืออาจกล่าวได้ว่า นักลงทุนต่างชาติอาจเน้น rages-trade ซื้อ-ขายในกรอบ ซึ่งภาพดังกล่าวก็อาจรวมถึงโฟลว์ธุรกรรมในฝั่งตลาดบอนด์ ซึ่งเราเห็นว่านักลงทุนต่างชาติจะเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip and Sell on Rally เป็นหลัก จนกว่าจะมั่นใจในแนวโน้มดอกเบี้ยขาลงที่ชัดเจน

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งหากสะท้อนภาพการชะลอต่อเนื่องของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ก็จะยิ่งเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้เล่นในตลาดว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้

ส่งผลให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจย่อตัวลงต่อได้บ้าง หนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ในทางกลับกัน หากข้อมูลการจ้างงานออกมาดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ตลาดกลับมากังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอีกครั้ง

ส่งผลให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นได้เร็วและแรง หลังล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่าเฟดมีโอกาสราว 87% ในการลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด

ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.50-36.70 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ

และประเมินกรอบเงินบาท 36.35-36.85 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways ที่แคบลงตามที่เราประเมินไว้ (แกว่งตัวในช่วง 36.60-36.66 บาทต่อดอลลาร์) เนื่องจากตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ปิดทำการในวันหยุด 4th of July

ทำให้สินทรัพย์ในตลาดส่วนใหญ่ต่างเคลื่อนไหวในกรอบ sideways นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษ (ซึ่งคาดการณ์จาก Exit Polls ล่าสุด สะท้อนว่า พรรคแรงงาน หรือ Labour party จะได้ที่นั่งในสภาถึง 410 ที่นั่งจาก 650 ที่นั่งทั้งหมดในสภา) รวมถึง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในช่วงกลางคืนของวันศุกร์นี้

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดทำการเนื่องในวันหยุด 4th of July อย่างไรก็ดี เราคาดว่าผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบเปิดรับความเสี่ยงมากนัก จนกว่าจะรับรู้รายงานยอดการจ้างงานในวันศุกร์นี้ก่อน สะท้อนจาก สัญญาฟิวเจอร์สตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ทรงตัว ไม่ต่างจากระดับก่อนหน้ามากนัก

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.56% หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลต่อสถานการณ์การเมืองอังกฤษและการเมืองฝรั่งเศสมากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน อาท Shell +1.7% ตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์มีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง ตามการแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลักฝั่งยุโรป ทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่ได้แรงหนุนจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินยุโรป และความกังวลสถานการณ์การเมืองยุโรปที่คลี่คลายลงบ้าง

อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่อง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่ระดับ 105.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.1-105.3 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง ทำให้โดยรวมราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ย่อตัวลงบ้าง

แต่ยังคงแกว่งตัวเหนือระดับ 2,360 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า ราคาทองคำจะมีการปรับตัวในทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น หลังรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ทั้งยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการเติบโตของรายได้ (Average Hourly Earnings) และ

อัตราการว่างงาน (Unemployment) ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เฟดใช้พิจารณาในการกำหนดนโยบายการเงินเช่นกัน

ส่วนในฝั่งไทย เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมิถุนายน อาจชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 1.10% (+0.2%m/m) จากผลของฐานราคาสินค้าและบริการที่สูงในปีก่อน และการปรับตัวลดลงของราคาเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้จากเดือนก่อน

ทว่าโดยรวมอัตราเงินเฟ้อของไทยก็มีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบเป้าหมาย 1%-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า หากแนวโน้มเศรษฐกิจไม่ได้มีทิศทางที่แย่ลงจากการประเมินของ ธปท. ชัดเจน ธปท. ก็สามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ได้ในปีนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 36.58-36.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.38 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 36.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ แต่ขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยตามทิศทางสกุลเงินเอเชียอื่นๆ และราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังขาดแรงหนุนใหม่ๆ เนื่องจากตลาดยังรอติดตามตัวเลขสำคัญของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในคืนนี้อย่างใกล้ชิด

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 36.50-36.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์สกุลเงินในภูมิภาค ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของไทย และข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร และเครื่องชี้ตลาดแรงงานอื่นๆ ของสหรัฐฯ