ตามที่คณะรัฐมนตรี ในการประชุมวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยผ่านกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (กองทุน Thai ESG) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งได้แก่ การขยายวงเงินที่นำไปลดหย่อนภาษีเงินได้เป็น 3 แสนบาท/คน/ปี
และการลดระยะเวลาถือครองหน่วยลงทุนเหลือ 5 ปี สำหรับการซื้อหน่วยลงทุนระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 เพื่อขับเคลื่อนตลาดทุนไทย ยกระดับความเชื่อมั่น และสนับสนุนการลงทุนระยะยาวในตลาดทุน โดยกระทรวงการคลังจะประเมินผลของการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในครั้งนี้เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินมาตรการ 3 ปี
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า จากประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับกับมาตรการข้างต้น โดยขยายขอบเขตการลงทุนของกองทุน Thai ESG เน้นบทบาท บลจ. ในการใช้ fiduciary duty เพื่อการลงทุนอย่างรับผิดชอบ
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) ในการประชุมครั้งที่ 7/2567 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 มีมติเห็นชอบหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์กองทุน Thai ESG เพื่อรองรับมาตรการส่งเสริมการออมการลงทุนของภาครัฐ ใน 2 เรื่องที่สำคัญ ดังนี้
1. การขยายขอบเขตการลงทุน ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้
2. การเสริมสร้างบทบาทหน้าที่ของ บลจ. ในการจัดการกองทุน Thai ESG โดย บลจ. ต้องใช้ความระมัดระวัง รับผิดชอบเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน (fiduciary duty) ในการนำปัจจัยด้าน ESG มาใช้พิจารณา ตั้งแต่การกำหนดนโยบายและกลยุทธ์การลงทุน การคัดเลือก และติดตามการลงทุนในกิจการที่มีคุณภาพ เพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืนตามวัตถุประสงค์ของกองทุน Thai ESG
ประกาศที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์กองทุน Thai ESG คาดว่าจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับภายในเดือนสิงหาคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถลงทุนในกองทุน Thai ESG ที่มีอยู่แล้วโดยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีใหม่ได้ทันที
และ ก.ล.ต. จะประสานกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกและเตรียมความพร้อมให้ บลจ. ที่ประสงค์จะจัดตั้งกองทุน Thai ESG ตามเงื่อนไขใหม่ หรือแก้ไขโครงการเดิมเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการลงทุนตามหลักเกณฑ์ใหม่ต่อไป
ทั้งนี้ กองทุน Thai ESG ต้องเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (SRI Fund) เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่เพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยกองทุนนี้จะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอจัดตั้งและแก้ไขโครงการจาก ก.ล.ต. เช่นเดียวกับ SRI Fund ตลอดปี 2567 ด้วย
อนึ่ง หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (SRI Fund) กำหนดให้ บลจ. ที่บริหารจัดการ SRI Fund ต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนภายใต้มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเปรียบเทียบข้อมูลระหว่าง SRI Fund ได้อย่างสะดวก และมีข้อมูลที่เพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน
อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงด้านการฟอกเขียว (greenwashing) โดย ก.ล.ต. ได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมประกอบด้วยค่าธรรมเนียมคำขออนุมัติจัดตั้ง 100,000 บาท/กองทุนรวม และค่าธรรมเนียมคำขอแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการกองทุนรวม ไม่เกิน 5,000 บาท/กองทุนรวม สำหรับคำขอที่ยื่นระหว่างปี 2567