นักวิชาการชี้ FIDF รอได้ ต้องช่วย "หนี้ครัวเรือน" ก่อนลามทั้งระบบ

30 ส.ค. 2567 | 06:16 น.
อัพเดตล่าสุด :30 ส.ค. 2567 | 06:37 น.

นักวิชาการชี้ หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ยังรอได้ ไม่จำเป็นต้องปลดหนี้ใน 3วัน 5วัน มองปัญหาหนี้ครัวเรือนรุนแรงกว่า เร่งแก้ก่อนลามทั้งระบบ

ศ.ดร.กิตติ ลิ่มสกุล นักวิชาการอิสระ กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศไทย ผ่านรายการ “เข้าเรื่อง” เผยแพร่ทางช่องยูทูปฐานเศรษฐกิจว่า หนี้ครัวเรือนในขณะ ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ

เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนจะเป็น Systemic risk หรือความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อตลาดทั้งระบบ ดังนั้นแนวความคิดที่จะลดเงินนำส่งของธนาคารพาณิชย์เข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIDF) เหลือครึ่งหนึ่ง จึงเป็นแนวคิดที่ถูกต้องแล้ว เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับธนาคารพาณิชย์ เพื่อไปดูแลช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากขึ้น

ปัญหาหนี้ครัวเรือนถือว่ามีความอันตรายมากที่สุด หนักมากกว่าหนี้ SMEsเสียอีก โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคล เพราะหนี้เหล่านี้ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หากกลายเป็นหนี้เสียก็ย่อมกระทบต่อธนาคารด้วย จึงจำเป็นต้องใช้วิธีของรัฐ (mandatory) เพื่อดึงหนี้ครัวเรือนบางส่วนออกมา เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะประชาชนมีหนี้สูง มีรายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย

รัฐบาลควรมีการหารือ ทำความเข้าใจกับกับธนาคารแห่งประเทศไทย และนักวิชาการ เพื่อวางแนวทางในการลดอัตราส่วนหนี้ครัวเรือนลงมาบ้าง หากรับบาลจะออกบอนด์เพื่อดูดซับหนี้บางส่วน จะโอเคหรือไม่ ระดับใดจึงมองว่าไม่กระทบเรื่อง Moral Hazard เพราะอย่างไรก็ตามก็ยังอยู่ภายใต้การรับผิดชอบของรัฐบาล

วิธีการช่วยเหลือโดยคำนึงถึงเรื่องMoral Hazard ด้วยนั้น ต้องทำงานแบบ across the board ต้องนำข้อมูลทั้งหมดมากาง ว่าคนหนึ่งคนมีหนี้อยู่ที่ไหนบ้าง เท่าไหร่อย่างไรบ้าง จากนั้นจึงนำมาจัดชั้นและให้ความช่วยเหลือกับหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงก่อน และต้องมีการปรับนโยบายการเงินร่วมด้วย เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ที่สำคัญคือต้องรู้ตัวเลขที่ชัดเจนก่อนจะออกบอนด์ ไม่เช่นนั้นอาจกระทบกับภาพลักษณ์ของประเทศ และต้องชัดเจนด้วยว่าใครจะเป็นผู้จัดการบอนด์ดังกล่าวด้วย

สำหรับข้อกังวลเรื่องการชำระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) ที่จะช้าออกไปกว่ากำหนด และยังมีดอกเบี้ยจากการที่เงินต้นลดช้า ที่ต้องจ่ายปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท ก็จะลดช้าไปด้วย รวมถึงต้นทุนดอกเบี้ยที่เกิดจากพันธบัตรที่ออกไปแล้วไม่ได้ลดอีก 5,000 ล้านบาท

ศ.ดร.กิตติ มีความเห็นว่า หากจะช้าไปบ้างในช่วงนี้คงจะไม่เป็นไรนัก มีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องให้หนี้ก้อนหนี้หายไปภายใน 3 วัน 5วัน เพราะหากกระทรวงการคลังจะดำเนินมาตรการก็ย่อมต้องคิดมาดีแล้ว โดยต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา โดยส่วนตัวเห็นว่าควรต้องแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน หรือหนี้ครัวเรือนก่อนเพราะเป็นปัญหาที่อันตรายมากที่สุด และจะอันตรายมากยิ่งขึ้นหากหนี้ประชาชนไหลออกไปสู่นอกระบบ