หนี้ท่วมหัว 16.37 ล้านล้านบาท แนวโน้มเอ็นพีแอลยังพุ่งต่อจาก 5.4 แสนล้านบาท

30 ส.ค. 2567 | 00:01 น.
อัพเดตล่าสุด :30 ส.ค. 2567 | 00:01 น.

นักวิชาการชี้ หนี้ครัวเรือนเรื่องใหญ่ อันตรายกว่าหนี้ SMEs ต้องร่วมมือทุกภาคส่วนแก้ไขแบบบูรณาการ โจทย์ท้าทายต้องลดเงินต้นให้ได้ เพื่อดอกเบี้ยจะลดตาม AMC ในระบบพร้อมซื้อหนี้ ไตรมาส 4 ปีนี้ เหตุมีจำนวนมากถึง 83 แห่ง 

KEY

POINTS

  • หนี้ครัวเรือนเป็นความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม เพราะส่วนใหญ่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและมีแนวโน้มที่จะสร้างปัญหาใหญ่ให้กับธนาคาร ถ้าหนี้เหล่านี้กลายเป็นหนี้เสีย
  • ต้องระมัดระวังเรื่อง Moral Hazard และพิจารณาข้อมูลหนี้ของประชาชนทั้งหมด เพื่อลำดับความสำคัญในการช่วยเหลือ โดยเริ่มจากหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง 
  • การแก้ไขหนี้ครัวเรือนต้องใช้แนวทางที่บูรณาการทั้งระบบ รวมถึงการรวมพลังจากทุกภาคส่วน เช่น ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และนอนแบงก์

หนี้ครัวเรือนของไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมียอดคงค้างระดับสูงที่ 16 ล้านล้านบาทมาตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2566 ล่าสุดมียอดคงค้างทั้งสิ้น 16.370 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.8%ของจีดีพี ลดลง 4 พันล้านบาทจากไตรมาส 4 ปี 2566 ที่มียอดคงค้าง 16.374 ล้านล้านบาท คิดเป็น 91.4%ของจีดีพี ขณะที่คุณภาพหนี้ครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่อง

หนี้ท่วมหัว 16.37 ล้านล้านบาท แนวโน้มเอ็นพีแอลยังพุ่งต่อจาก 5.4 แสนล้านบาท
โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ หนี้เสีย ไตรมาส 2 ปี 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.84% หรือ 5.40 แสนล้านบาท จาก 2.80% ของสินเชื่อรวมในไตรมาสแรกปี 67  โดยที่หนี้เสียจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นจาก 2.95% มาอยู่ที่ 3.13% ซึ่งเป็นการด้อยค่าลงทุกพอร์ตสินเชื่อ และส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้เปราะบางที่เคยได้รับการช่วยเหลือมาแล้วช่วงโควิด-19

ขณะที่หนี้ที่กำลังจะเป็นหนี้เสีย หรือ หนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM/Stage2) ที่ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน เพิ่มขึ้นทุกพอร์ตสินเชื่อจาก  6.38% ของสินเชื่อรวม เป็น 6.50% โดยสินเชื่อธุรกิจเพิ่มขึ้นจาก 5.74% มาอยู่ที่ 5.80% และสินเชื่ออุปโภคบริโภคค้างเพิ่มจาก 7.34% เป็น 7.60% ทำให้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ สะท้อนจากสินเชื่อไตรมาส 2 ของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวเพียง 0.3%

ในงาน Vision for Thailand 2024 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่าน อดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร ได้แสดงความเป็นห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยจึงมีแนวคิดที่จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ ครึ่งหนึ่ง จากที่นำส่งในปัจจุบัน 0.46%ของเงินฝาก เพื่อให้นำเงินอีกครึ่งหนึ่งไปช่วยเหลือลูกหนี้

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

พร้อมกับเสนอให้รัฐบาลซื้อหนี้กลับมาบริหารเอง เพื่อให้ประชาชนกลับไปสู่ภาวะการทำงานได้อย่างเดิมและแบงก์พาณิชย์ก็สามารถปล่อยกู้ได้  

หนี้ครัวเรือนอันตรายสุด มากกว่าSMEs

ศ.ดร.กิตติ ลิ่มสกุล นักวิชาการอิสระ กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยขณะนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เพราะจะเป็น Systemic risk หรือความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อตลาดทั้งระบบ

ศ.ดร.กิตติ ลิ่มสกุล นักวิชาการอิสระ กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย

ดังนั้นแนวความคิดที่จะลดเงินนำส่งของธนาคารพาณิชย์เข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เหลือครึ่งหนึ่ง จึงเป็นแนวคิดที่ถูกต้องแล้ว เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับธนาคารพาณิชย์ เพื่อไปดูแลช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากขึ้น

“ปัญหาหนี้ครัวเรือนถือว่า มีความอันตรายมากที่สุด หนักมากกว่าหนี้ SMEs เสียอีก โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคล เพราะหนี้เหล่านี้ไม่มีหลักทรัพย์คํ้าประกัน หากกลายเป็นหนี้เสียก็ย่อมกระทบต่อธนาคารด้วย จึงจำเป็นต้องใช้วิธีของรัฐ (mandatory) เพื่อดึงหนี้ครัวเรือนบางส่วนออกมา เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะประชาชนมีหนี้สูง มีรายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย” 


อย่างไรก็ตาม วิธีการช่วยเหลือ ต้องคำนึงถึงเรื่อง Moral Hazard ด้วย และต้องทำงานแบบ across the board ต้องนำข้อมูลทั้งหมดมากางว่า คนหนึ่งคนมีหนี้อยู่ที่ไหนบ้าง เท่าไหร่อย่างไรบ้าง จากนั้นจึงนำมาจัดชั้นและให้ความช่วยเหลือกับหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงก่อนและต้องมีการปรับนโยบายการเงินร่วมด้วย เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการกำกับดูแลสถาบันการเงิน

โจทย์ยากต้องปรับทั้งระบบ

นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่ม บริหารจัดการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล ธนาคาร ทหารไทยธนชาต จำกัด(มหาชน)หรือ ttb เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวโน้มคุณภาพสินเชื่อจะแย่ขึ้น เห็นได้จากการการบริโภคในประเทศชะลอลง ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจของไทยยังมีความท้าทาย

นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่ม บริหารจัดการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล ธนาคาร ทหารไทยธนชาต จำกัด(มหาชน)

หากมองตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลโดยรวมอาจจะไม่ขยับขึ้นมาก แต่เห็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของสินเชื่ออุปโภคบริโภค เช่น ธุรกิจบัตรเครดิตและที่อยู่อาศัย ส่วนภาคธุรกิจอาจจะมีประเด็นเฉพาะรายไม่ใช่ทั้งระบบ

ส่วนตัวเลข Stage2 ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเช่าซื้อ ส่วนตัวมองว่า มีความเสี่ยง โดยเฉพาะสถานการณ์ในภูมิภาคก็อ่อนแอ ส่วนหนึ่งระดับหนี้และรายจ่ายโตขึ้นสวนทางรายได้ ทำให้ภาระหนี้ไม่ปรับลด ดังนั้นในระยะข้างหน้าโอกาสคนที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เอ็นพีแอลจะมีมากขึ้น ไม่ว่าระบบธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและนอนแบงก์ 

“การแก้หนี้ครัวเรือนเป็นโจทย์ยาก และไม่ใช่ระบบแบงก์ทำ เพราะหากลดหนี้รายลูกค้าของระบบแบงก์ได้ แต่นอนแบงก์ สหกรณ์ แบงก์รัฐ ไม่เข้าร่วม ครั้นเมื่อกลุ่มแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว แต่ลูกค้ารายเดียวกันที่อยู่ในสหกรณ์หรือ SFI/นอนแบงก์ ดังนั้นจะต้องปรับทั้งระบบแบบบูรณาการ”นายนริศกล่าว

ความท้าทายคือ ทำอย่างไรให้การผ่อนชำระจะสามารถลดหนี้เงินต้นลงได้ หากปรับโครงสร้างหนี้ แค่ลดค่าผ่อนต่องวด ก็แค่บรรเทา ดังนั้นต้องกลับมาคิดทั้งระบบให้ปรับโครงสร้างหนี้กินเงินต้นลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนมาตรการของธปท.ทั้งการรวมหนี้และเทอมโลนนั้นเป็นมาตรการที่ดี แต่มีคนเข้าร่วมแค่ 1.8 แสนบัญชี ดังนั้นต้องขยายผลให้มีแรงจูงใจดึงคนเข้ามา แต่ไม่เกิด Moral Hazard  

AMC ในระบบเริ่มได้Q4


นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO กล่าวว่า แนวทางแก้ไขหนี้ครัวเรือนและธุรกิจนั้นเจตนาคือ ให้ใช้บริษัทบริหารสินทรัพย์หรือ AMC ในระบบที่มีอยู่ โดยไม่ต้องมีเงินทุนในการจัดตั้ง National AMC ส่วนตัวมองว่า มีความเป็นไปได้แต่ต้องทำให้เร็ว อย่างน้อยเริ่มได้ในไตรมาส4 ปีนี้

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

เพราะจะมีปัจจัยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างประเทศ ซึ่งเอื้อให้ไทยสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ โดยเฉพาะธนาคารเลือกลูกค้าที่มีกำลังจ่ายก่อน พร้อมพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้า

กรณีลูกหนี้เริ่มผ่อนจ่ายไม่ไหวก็เริ่มปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้ลูกหนี้จ่ายเฉพาะเงินต้น (แขวนในส่วนของอัตราดอกเบี้ยไว้)  และจ่ายเฉพาะเงินต้น ซึ่งเมื่อเงินต้นปรับลดลง ในส่วนของดอกเบี้ยก็จะปรับลดลงได้ แต่กรณีลูกหนี้ที่ธนาคารติดต่อไม่ได้นั้น เปิดช่องให้ลูกค้าติดต่อเข้ามาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ (แขวนดอกเบี้ยไว้ก่อน)

และหากลูกหนี้ผ่อนจ่ายไม่ไหวจริงๆ ธนาคารสามารถตัดขายลูกหนี้ในราคาพิเศษให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ AMC โดยที่เมื่อ AMC รับซื้อพอร์ตลูกหนี้ไปแล้ว ก็ต้องปรับโครงสร้างหนี้พร้อมพิจารณาลดต้นเงินด้วย


“หนี้เสียที่แบงก์ขายออกมาในราคาพิเศษให้ AMC แบงก์จะเสียประโยชน์จากดอกเบี้ยที่เคยได้รับ แต่สามารถตัดหนี้ออกจากพอร์ตและไปปล่อยสินเชื่อใหม่ อีกทั้งแบงก์ได้กันสำรองหนี้ดังกล่าวแล้ว"

ส่วน AMC เมื่อรับซื้อพอร์ตหนี้ไปบริหาร สามารถช่วยลูกหนี้ได้ โดยให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเงินต้นก่อน ขอเวลาแค่ 1ปี แนวทางนี้น่าจะลดหนี้ได้เร็วแบบเห็นหน้าเห็นหลัง ที่สำคัญ การแก้หนี้อย่างจริงจังต้องมีเจ้าภาพ และประเมินผลอย่างใกล้ชิด

โดยเฉพาะช่วงนี้เกิดอุทกภัย ลูกหนี้ส่วนหนึ่งยังไม่มีรายได้อีก แต่หากเดือนพ.ย.-ธ.ค.ภาครัฐโหมโครงการลงทุนต่างๆตามแผน น่าจะเริ่มเห็นความเชื่อมั่นกลับมา”นายสุขสันต์กล่าว 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา แม้ธปท.จะออกมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้หลากหลาย แต่ลูกหนี้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ไม่ถึง 15% ส่วนหนึ่งเพราะปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ลูกหนี้ก็ไม่มีกำลัง ทำให้ต้องปรับโครงสร้างหนี้รอบ 2-3 แต่ก็ไม่มีกำลังจ่าย

ดังนั้นมองไปข้างหน้า ยังมีแนวโน้มที่สถาบันการเงินเจ้าหนี้จะนำลูกหนี้ออกขาย โดยคาดว่าทั้งปี น่าจะเห็น 4 แสนล้านบาทจากครึ่งปีแรกที่มีการประมูลขายกว่า 3แสนล้านบาทแล้ว โดยในส่วนของ CHAYO ครึ่งปีแรกรับซื้อหนี้เพียง 2,000 ล้านบาท ในแง่ภาพรวมการเรียกเก็บหนี้นั้น ตอนนี้หนี้ที่รับซื้อใหม่ยังไม่ได้ทุนคืน เพราะส่วนหนึ่งหนี้เสียเยอะและคนไม่มีความสามารถในการจ่ายหนี้  

AMC ในระบบมีมากพอ 83 แห่ง

นายเมธ์ ปุ่มเป้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีดเดอร์ กรุ๊ป จำกัด ในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจทวงหนี้ไทยกล่าวว่า แนวทางแก้หนี้ครัวเรือนนั้น หากจะให้ AMC ซื้อหนี้ออกจากสถาบันการเงิน สามารถทำได้ เพราะ AMC ในระบบมีจำนวนมากพอ 83 แห่ง

นายเมธ์ ปุ่มเป้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีดเดอร์ กรุ๊ป จำกัด

แต่ส่วนตัวมองว่า อาจจะเป็น AMC ที่เป็นบริษัทลูกของสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ เพราะ AMC ทั่วไปจะไม่มีเม็ดเงินทุนมากพอที่จะรับซื้อ ขณะที่ AMC รายใหญ่ปัจจุบันเน้นซื้อพอร์ตหนี้ที่มีหลักประกัน ไม่รับซื้อหนี้รายย่อย 

ดังนั้น ในทางปฎิบัติอาจจะมี AMC ของรัฐที่มีอยู่แล้ว รับซื้อหนี้ออกจากธนาคาร แต่ว่าจ้างให้ AMC ทั่วไปบริหารอีกทอด ที่สำคัญ การจะลดหนี้ครัวเรือนนั้น ความเป็นไปได้น่าจะให้อำนาจ AMC ในการบริหารจัดการเพิ่มเติม

เพราะปัจจุบันการดำเนินงานบริหารหนี้จะถูกริดรอน อำนาจ AMC ค่อนข้างมาก ทำให้ยากต่อการติดตามลูกหนี้ ซึ่งส่วนตัวมองว่า การให้สิทธิลูกหนี้มากเกินไปก็มีส่วนทำให้เอ็นพีแอลเพิ่ม

ส่วนสถานการหนี้เอ็นพีแอล มองว่า แนวโน้มยังเพิ่มขึ้น โดยลูกหนี้รายย่อยก็ถูกนำออกขายประมูลขายเป็นครั้งแรก ซึ่งบริษัทได้ปฎิเสธไปมากเช่นกัน อย่างครึ่งปีนี้เพิ่งจะใช้เงินซื้อ 50 ล้านบาทจากวงเงินตั้งไว้ 250 ล้านบาท

โดยเป็นลูกหนี้เช่าซื้อจากกลุ่มผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ต่างจังหวัดมีการนำลูกหนี้ออกมาขาย ช่วงที่เหลือประมาณไตรมาส4 น่าจะเริ่มซื้อลูกหนี้เข้ามา โดยอยู่ระหว่างดีลอีก 3 รายบริษัทจะพิจารณารับซื้อลูกหนี้จากคู่ค้าเดิม

อย่างไรก็ตามปีนี้หนี้ที่รับซื้อเข้ามาผลเรียกเก็บต่ำเป้า สาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจชะงักงั้น คนไม่อยากใช้จ่ายและลูกหนี้ไม่มีเงิน  ปัจจุบันพอร์ตลูกหนี้ของลีดเดอร์ประมาณกว่า 22,000 ล้านบาท 90%เป็นหนี้เช่าซื้อที่เหลือเป็นลูกหนี้บัตรเครดิตกว่า 1,700 ล้านบาท และพอร์ตรับจ้างบริหารอีกกว่า 70,000 ล้านบาทยังมีเจ้าหนี้เสนองานเข้ามาต่อเนื่อง  

สำหรับลูกหนี้เช่าซื้อที่มีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้นั้น คาดว่า จะอยู่ในกระบวนการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการ Responsible Lending: RLของ ธปท.(ไกล่เกลี่ย ติดตามรถรถคืน) น่าจะเห็นสถาบันการเงินเจ้าหนี้นำออกประมูลขายประมาณไตรมาส2ปี2568

แหล่งข่าวกล่าวว่า ภาพรวมเวลานี้ เศรษฐกิจไทยคงจะต้องใช้เวลา 3-5 ปี สิ่งที่ต้องทำอย่างน้อย 2-3 เรื่องคือ จะต้องลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อทุเลาปัญหา, อัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเพื่อให้มีเงินหมุนเวียนมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ประเด็นสำคัญคือ จะต้องทำให้เงินหมุนอยู่หลายๆรอบและถึงมือประชาชนในวงกว้างได้อย่างไร  (ที่ผ่านมามาตรการคนละครึ่ง จะให้ดีกว่าก็คือให้ทั้งหมดเพื่อความนิยม) 

สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น ย้ายไปเป็นหนี้สาธารณะแทน หากทุกคนใช้ที่รัฐบาลแจกมาเลี้ยงชีพและเอาที่หาได้ไปจ่ายหนี้ส่วนตัว  แนวทางนี้ยังเป็นการทุเลาปัญหา และแก้ปัญหาบางส่วน การสร้างรายได้เพิ่มขึ้นที่มากพอเพียงคือเรื่องที่ต้องใช้เวลาและยากที่สุด  เพราะต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งต้องใช้เวลานาน 3-5 ปีเลยทีเดียว

“ตอนนี้เป็นการปะผุไปเรื่อยๆ ในหนึ่งปีที่ผ่านมามัวแต่ทะเลาะกันทางการเมืองทําให้เสียเวลา และไม่สามารถทำอะไรได้เร็ว เช่น การตั้งรัฐบาลเศรษฐาก็ทําให้การอนุมัติงบประมาณประเทศล่าช้าและกว่าจะเบิกจ่ายได้ไป 6 เดือน หนี้ครัวเรือนก็น่าจะเพิ่มขึ้นอีกพอสมควร"

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 4,023 วันที่ 1 - 4 กันยายน พ.ศ. 2567