ค่าเงินบาทปิดตลาดวันนี้ 30ส.ค.ที่ระดับ 33.88 บาทต่อดอลลาร์

30 ส.ค. 2567 | 11:21 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ส.ค. 2567 | 11:28 น.

ค่าเงินบาทเริ่มทยอยแข็งค่าขึ้นตามจังหวะค่าเงินหยวนในตลาดออฟชอร์ในช่วงบ่าย  กรอบการเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าระหว่าง 2-6 ก.ย. ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือนครั้งใหม่ที่ 33.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะกลับมาปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 33.88 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.94 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบตลอดทั้งวัน แต่เริ่มทยอยแข็งค่าขึ้นมาตามจังหวะการแข็งค่าของค่าเงินหยวนในตลาดออฟชอร์ในช่วงบ่าย ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ ยังคงขาดแรงหนุน

เนื่องจากตลาดรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา PCE และ Core PCE ของสหรัฐฯ ในคืนนี้อย่างใกล้ชิด สำหรับทิศทางฟันด์โฟลว์ในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย 3,184.24 ล้านบาท และ 3,181 ล้านบาท ตามลำดับ 

ส่วนค่าเฉลี่ย Indicative forward points ของธุรกรรมระยะ 3 เดือนสำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้ 50-200 ล้านบาทต่อปี รายงานข้อมูล ณ 10.00 น. วันที่ 30 สิงหาคม จากเว็บไซต์ ธปท. อยู่ที่ -25.51 สำหรับผู้ส่งออก (ขายเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) และที่ -21.84 สำหรับผู้นำเข้า (ซื้อเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้า (2-6 ก.ย.) ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของไทย สัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนส.ค.  ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.ค. และรายงาน Beige Book ของเฟด นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนส.ค. ของญี่ปุ่น จีน อังกฤษ และยูโรโซนด้วยเช่นกัน