ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 25ก.ย2567ที่ระดับ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.85 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนั้นมีกำลังมากกว่าที่เราประเมินไว้ ซึ่งต้องยอมรับว่า เกิดจาก “Surprise” มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ของทางการจีนในวันก่อนหน้า
(เราเองก็ไม่ได้คาดคิดว่าทางการจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นนักลงทุนขนานใหญ่ในเร็ววันนี้)
ที่พลิกมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีน จนทำให้ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นร้อนแรง ขณะเดียวกันเงินหยวนจีน (CNY) ก็แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และหนุนการแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย
ซึ่งเรามองว่า ภาพดังกล่าวอาจยังคงช่วยหนุนบรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งเอเชียในช่วงนี้ ทำให้เงินบาทอาจพอได้รับอานิสงส์จากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอยู่บ้าง
กอปรกับในมุมของเงินดอลลาร์เองก็อาจยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ชัดเจน จนกว่าตลาดจะปรับมุมมองใหม่ต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งต้องอาศัยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด หรือ
อย่างน้อยก็ดีกว่าบรรดาเศรษฐกิจอื่นๆ เหมือนต้นสัปดาห์ที่ดัชนี PMI ของสหรัฐฯ นั้นดูดีกว่าทั้งฝั่งยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น และที่สำคัญ เราคงมุมมองเดิมว่า ตราบใดที่ราคาทองคำยังคงสามารถปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ได้นั้น
เงินบาทก็อาจทยอยแข็งค่าขึ้นต่อได้ ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับสำคัญ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นทะลุโซนดังกล่าวได้จริง จะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องไปยังโซน 32.00-32.25 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก
เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่อาจมีมุมมองคล้ายกับเรา ที่ประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทควรจำกัดลงได้แล้วนั้น อาจต้องปรับสถานะถือครอง หรือ Cut Loss สำหรับสถานะ Short THB ในจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าโมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทยังคงมีอยู่ แต่เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็อาจชะลอลงได้บ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าพลังงาน หลังราคาน้ำมันดิบก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งในระยะสั้น ก่อนที่ทางการจีนจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่นั้น ผู้เล่นในตลาดได้มีสถานะ Net Short น้ำมันดิบมากพอสมควร ทำให้มีโอกาสเกิดภาพการเร่งปิดสถานะดังกล่าวและหนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นได้ในระยะสั้น อีกทั้ง การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงนี้ ก็จะยังเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยซื้อบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจพอช่วยชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้บ้าง
และที่สำคัญ เราขอย้ำมุมมองเดิมว่า ในเชิง Valuation การแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าโซน 33 บาทต่อดอลลาร์ โดยเฉพาะโซนแข็งค่าเกิน 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่า เป็นระดับที่ Overvalued (Z-Score ของดัชนีค่าเงินบาท REER เกินระดับ +0.5) ซึ่งหากปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เงินบาทก็ไม่ควรแข็งค่าเกินระดับดังกล่าวไปมากนัก ทำให้ผู้ประกอบการอย่างฝั่งผู้นำเข้าควรเตรียมพร้อมปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.50-32.80 บาท/ดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (กรอบการเคลื่อนไหว 32.58-32.86 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ หลังดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board เดือนกันยายน ออกมาแย่กว่าคาดและสะท้อนความกังวลภาวะตลาดแรงงานของผู้บริโภคมากขึ้น
ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า เฟดอาจต้องเร่งลดดอกเบี้ยมากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะ เงินยูโร (EUR) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ได้แรงหนุนจากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังทางการจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่
นอกจากนี้ เงินบาทยังคงได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำยังคงสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (All-Time High) ท่ามกลางความหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงความต้องการถือทองคำในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังคงร้อนแรงอยู่
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง
ท่ามกลางความหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด และความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทว่า การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็เป็นไปอย่างจำกัด หลังผู้เล่นในตลาดยังคงทยอยขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ (The Magnificent 7) อยู่ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.25%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.65% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม รวมถึงกลุ่มเหมืองแร่ อาทิ Hermes +3.9%, Rio Tinto +4.5% ตามความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นความเชื่อมั่นตลาดทุนขนานใหญ่
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นเกือบทะลุ 3.80% ตามบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ที่ได้แรงหนุนจากความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ก่อนที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 3.74% หลังรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ล่าสุด ของสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด
ทั้งนี้ ความผันผวนของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็เป็นสิ่งที่เราประเมินไว้แล้วว่า การเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ในช่วงนี้จะเผชิญความผันผวน Two-Way Volatility ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ทยอยออกมา ทว่า เราคงประเมินว่า ในระยะสั้น ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจยังไม่เห็นสัญญาณการชะลอตัวลงหนักที่ชัดเจน จนทำให้เฟดจำเป็นต้องเร่งลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดคาดหวัง ทำให้ยังมีความเสี่ยงที่ตลาดอาจต้องปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้บ้าง
โดยเรายังคงมองว่า กลยุทธ์ “Buy on Dip” หรือรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว จะสร้างความได้เปรียบให้กับผู้เล่นในตลาด
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ได้แรงหนุนจากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 100.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.2-100.9 จุด)
ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าตลาดการเงินจะเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง แต่การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงความต้องการถือทองคำในช่วงตลาดเผชิญสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังคงร้อนแรงอยู่ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง ก่อนที่จะถูกขายทำกำไรออกมาบ้าง แต่โดยรวมยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอาจมีไม่มากนัก แต่ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรายงานยอดสต็อกน้ำมันของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นได้
ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดการค้าระหว่างประเทศ (Exports & Imports) เดือนสิงหาคม ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า ทั้งยอดการส่งออกและยอดการนำเข้าก็มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องไม่น้อยกว่า +6% แต่โดยรวมดุลการค้าอาจขาดดุลเล็กน้อยได้