ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 11 ต.ค.“แข็งค่า”ที่ระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์

11 ต.ค. 2567 | 01:18 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2567 | 01:58 น.

ค่าเงินบาทคาดกรอบวันนี้จะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.55 บาท/ดอลลาร์ ระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ และควรจับตาทิศทางของเงินหยวน

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 11 ต.ค. 2567 ที่ระดับ  33.45 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.59 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่าแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ในระยะสั้น เงินบาทอาจมีจังหวะแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับเพิ่มโอกาสที่เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน ตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

รวมถึงรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ที่ออกมาแย่กว่าคาด (ซึ่งเราขอเน้นย้ำว่า เฟดอาจให้ความสำคัญกับรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เป็นหลักในการตัดสินใจนโยบายการเงิน)

 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินบาทในระยะสั้นนั้น ในเชิงเทคนิคัลก็ถือว่า เป็นสัญญาณที่ดีต่อมุมมองของเราที่ยังเชื่อว่า เงินบาทยังมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงได้ เพราะเงินบาทอาจเคลื่อนไหวในลักษณะ Cup with Handle pattern ได้ ใน Time Frame รายวัน

โดยหากเงินบาทไม่ได้แข็งค่าต่อเนื่องจนหลุดโซนแนวรับ 33.10-33.20 บาทต่อดอลลาร์ เราก็ยังคงเชื่อว่า เงินบาทอาจมีแนวโน้มทยอยอ่อนค่าลงได้ และจะยิ่งมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทจะอ่อนค่าต่อไปถึงโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ หากเงินบาทสามารถกลับมาอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 33.60 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง ซึ่งจะเป็นการทำ Cup with Handle pattern ที่สมบูรณ์

ทั้งนี้ ในช่วงระยะสั้น เรายังคงเห็นแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะในส่วนของหุ้นไทย ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็จะเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่าได้ ทว่า เงินบาทก็อาจยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ตราบใดที่ราคาทองคำยังพอปรับตัวสูงขึ้นต่อได้

จากสองปัจจัยทั้งแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางของเงินหยวนจีน (CNY) ที่อาจเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงนี้ ตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน และการปรับมุมมองต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน ซึ่งต้องรอลุ้นการแถลงรายละเอียดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนในวันเสาร์นี้

เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.55 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยรวมเป็นการทยอยแข็งค่าขึ้น (กรอบการเคลื่อนไหว 33.41-33.66 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซนแนวต้าน 33.60-33.70 บาทต่อดอลลาร์

ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนกันยายน ออกมาที่ระดับ 2.4% และ 3.3% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์เล็กน้อย อย่างไรก็ดี ภาพดังกล่าวก็อยู่ได้ไม่นาน หลังยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims)

และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ต่างเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 258,000 ราย และ 1,861,000 ล้านราย แย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ กอปรกับถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ ที่ต่างย้ำมุมมองเดิมพร้อมสนับสนุนการทยอยลดดอกเบี้ยของเฟด

และไม่ได้แสดงความกังวลต่อรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อที่ออกมาสูงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกลับมาเพิ่มโอกาสที่เฟดจะเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายน รวมถึงกลับมาเชื่อว่าเฟดจะทยอยลดดอกเบี้ยได้มากขึ้นในปีหน้า ซึ่งการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวลดลง

หนุนให้ราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ  โดยการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ พร้อมกับโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำก็มีส่วนหนุนให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงคืนที่ผ่านมา

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ชะลอการเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดออกมาผสมผสาน (อัตราเงินเฟ้อ CPI สูงกว่าคาด แต่ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานแย่กว่าคาด) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 3 ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.21%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลง -0.18% หลังผู้เล่นในตลาดชะลอการเข้าซื้อหุ้นธีม China Recovery เพื่อรอจับตาการแถลงเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนในช่วงวันเสาร์นี้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันบ้างตามการปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ SAP -0.9%, ASML -0.6%

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways โดยมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 4.10% ก่อนที่จะทยอยปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้ระดับ 4.07% หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับเพิ่มโอกาสที่เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนพฤศจิกายนนี้

นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ดังกล่าว ก็สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยชะลอการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวได้บ้าง

หรืออย่างน้อยก็ทำให้การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี เรายังคงแนะนำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เพื่อให้ได้ Risk-Reward ที่คุ้มค่าและเหมาะสม

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการอ่อนค่าของสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่มีจังหวะอ่อนค่าสู่โซน 149 เยนต่อดอลลาร์ ตามการจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ

ทว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ก็ยังคงถูกจำกัดโดยแรงขายทำกำไรและการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาด รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กลับมาเพิ่มโอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนพฤศจิกายน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงเคลื่อนไหวแถวระดับ 102.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.7-103.2 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ปรับเพิ่มโอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนพฤศจิกายนและการประชุมในปีหน้า ได้ทำให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวลดลง ซึ่งหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่โซน 2,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อ PCE ผ่านรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนกันยายน รวมถึงรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนตุลาคม ซึ่งจะมีการรายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาวด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการตอบโต้อิหร่านของทางการอิสราเอล ว่าจะเป็นไปในลักษณะใดและจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันจากตะวันออกกลางหรือไม่ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.35-33.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (8.55 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.59 บาทต่อดอลลาร์

โดยเงินบาทฟื้นตัวแข็งค่ากลับมาบางส่วนตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ประกอบกับช่วงขาขึ้นของเงินดอลลาร์ฯ เริ่มจำกัดในช่วงปลายสัปดาห์ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีทิศทางปะปน โดยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดไปที่ระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน

ขณะที่ แม้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด แต่ก็ยังคงเป็นทิศทางชะลอลงต่อเนื่อง  ซึ่งทำให้ตลาดประเมินว่ายังคงมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนพ.ย. นี้

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.30-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลกและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนต.ค.