ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้31ต.ค.2567 ที่ระดับ 33.79 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.70 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways โดยเงินบาทยังคงมีโซนแนวต้านแถว 33.85 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไปจะอยู่แถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์)
เพราะถึงแม้ว่า เงินดอลลาร์จะมีจังหวะทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง หรือบรรดานักลงทุนต่างชาติจะยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย อย่างต่อเนื่อง ทว่า เงินบาทก็ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตราบใดที่ราคาทองคำยังคงมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้น
เราประเมินว่า เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจน จนกว่าตลาดจะรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ และผลการเลือกตั้งสหรัฐฯทำให้ในช่วงนี้ เงินบาทก็อาจพอมีโซนแนวรับแรกจะอยู่ในช่วง 33.65 บาทต่อดอลลาร์ และมีแนวรับถัดไปแถว 33.50 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เพราะหาก BOJ มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจน ว่าพร้อมทยอยเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย โดยไม่ได้กังวลต่อสถานการณ์การเมืองญี่ปุ่น ก็อาจเป็นปัจจัยหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง
ขณะที่ หาก BOJ ย้ำจุดยืน ไม่เร่งรีบขึ้นดอกเบี้ย พร้อมแสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมือง ก็อาจกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่นมีจังหวะอ่อนค่าลงต่อได้เช่นกัน ซึ่งในช่วงนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็ทยอยเข้าซื้อเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) พอสมควร โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินเยนญี่ปุ่นได้อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับเงินบาท และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง หรือชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้
ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในตลาด ลักษณะ Two-Way Volatility ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการปรับมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปมา ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.65-33.90 บาท/ดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลง ในลักษณะ Sideways Up (กรอบการเคลื่อนไหว 33.67-33.81 บาทต่อดอลลาร์) โดยในช่วงแรกเงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการย่อตัวลงบ้างของราคาทองคำ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงบ้าง
อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็เริ่มชะลอลงแถวโซนแนวต้าน 33.80 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งออกมาขยายตัว +2.8% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี น้อยกว่าที่ตลาดประเมินไว้ +3.0%
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ ยังถูกกดดันจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลักฝั่งยุโรป ทั้งเงินยูโร (EUR) ซึ่งได้แรงหนุนจากการปรับลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB อีกทั้ง รายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 3
รวมถึง อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีก็ออกมาสูงกว่าคาด นอกจากนี้ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ก็รีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้เช่นกัน หลังรัฐบาลอังกฤษเปิดเผยงบประมาณฉบับแรก ซึ่งอาจไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอย่างที่ผู้เล่นในตลาดได้กังวล
นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ยังได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำทยอยปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้จุดสูงสุดก่อนหน้าอีกครั้ง ซึ่งช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้บ้างในช่วงคืนที่ผ่านมา
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่ม Semiconductor ท่ามกลางความกังวลปัญหาบัญชีของหุ้น Super Micro Computer -32.7% รวมถึงรายงานผลประกอบการที่แย่กว่าคาดของ AMD -10.6% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Alphabet +2.8% ซึ่งรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งในวันก่อนหน้า ทำให้โดยรวม ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -0.56% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.33%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงกว่า -1.25% กดดันโดยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาน่าผิดหวัง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่ม Semiconductor เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ อาทิ ASML -3.2% นอกจากนี้ การปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของ ECB ก็มีส่วนกดดันบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ยุโรปเพิ่มเติมเช่นกัน
ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงสะท้อนภาพการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ (แม้ว่า อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 จะน้อยกว่าคาด ทว่า ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ก็ออกมาดีกว่าคาดพอสมควร)
อีกทั้ง การทยอยปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับธีม Trump Trades ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้น เข้าใกล้โซน 4.30% อีกครั้ง ซึ่งการปรับตัวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ดังกล่าว ก็สอดคล้องกับภาพที่เราประเมินไว้ ทำให้เรายังคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip)
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้น ก่อนที่จะเผชิญแรงกดดันจาก ทั้งแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD รวมถึงการกลับมาแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลักฝั่งยุโรป ทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ตามการปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของ ECB
ส่วนงบประมาณฉบับแรกของรัฐบาลพรรคแรงงานของอังกฤษก็ไม่ได้น่ากังวลอย่างที่ตลาดคาดการณ์ อนึ่ง เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากการอ่อนค่าของ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ตามส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่กว้างขึ้น โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 104.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.9-104.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) จะเผชิญแรงกดดันจากจังหวะการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แต่ราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากความต้องการถือของผู้เล่นในตลาด หนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้น กลับสู่โซน 2,790-2,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งจะเป็นการประชุมหลังการเมืองญี่ปุ่นเผชิญความไม่แน่นอนอีกครั้ง หลังพรรค LDP และพรรคพันธมิตร Komeito ได้เสียการครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ จนอาจมีผลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ BOJ ได้ ทำให้แม้ว่าในการประชุม BOJ ครั้งนี้ เรามองว่า BOJ อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25% ตามเดิม ทว่า เราจะจับตาอย่างใกล้ชิด ต่อการส่งสัญญาณของ BOJ เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงิน ภายใต้ความเสี่ยงการเมืองญี่ปุ่น
ส่วนในฝั่งจีน ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) เดือนตุลาคม เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
ทางฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อยูโรโซน เดือนตุลาคม รวมถึงถ้อยแถลงจากบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB
และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ PCE เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด
นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Amazon, Apple และ Intel ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้