หลังการประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการโยบายการเงิน(กนง.)เป็นครั้งที่ 2 อีก 0.25% เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา เราก็เริ่มเห็นการส่งผ่านดอกเบี้ยไปยังธนาคารพาณิชย์ เพราะ 6 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ดาหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยกับพรึบ
นำโดยพี่ใหญ่ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด(มหาชน)หรือ BBL ที่ปรับขึ้นยกแผง ทั้งดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.15-0.50% ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ปรับขึ้นถึง 0.40% ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR)ปรับขึ้น 0.375% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับขึ้น 0.30% เป็นการปรับเพิ่มมากที่สุด
ตามมาด้วยธนาคาร ทหารไทยธนชาต จำกัด(มหาชน)หรือ ttb เองก็ขึ้นยกแผงเช่นกัน โดยดอกเบี้ยเงินฝากประจำปรับขึ้นตั้งแต่ 0.15-0.80% ส่วนเงินกู้ตระกูล M ก็พร้อมเพียง โดย MLR และ MOR ปรับขึ้น 0.25% ขณะที่ MRR ปรับขึ้นเพียง 0.20%
ขณะที่ธนาคารที่เลือกปรับขึ้นเฉพาะลูกค้ารายใหญ่ โดยยังคงอัตราดอกเบี้ย MRR ไว้ มี 4 แห่งคือ ธนาคาร กรุงไทย จำกัด(มหาชน)หรือ KTB ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KBANK ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) และ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) หรือ BAY ด้วยเหตุผลหลักคือ เพื่อประคับประคองลูกค้าในกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน แต่ก็ยังเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นของทั้งโลก กดดันให้มีการปรับดอกเบี้ยขึ้นสูง จนเกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก และจะกดดันให้ไทยต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นตามด้วย
การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งแตกต่างกันขึ้นกับฐานลูกค้า ความต้องการเงินกู้ ปริมาณเงินฝาก และเงินกู้ใน Portfolio และต้นทุนดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งการปรับดอกเบี้ยจะส่งผลดีต่อธนาคารขนาดใหญ่ที่สินเชื่อส่วนใหญ่ใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว ขณะที่เงินฝากที่เป็นเงินฝากประจำ ต้องครบระยะเวลาถึงปรับขึ้นได้ทำให้เป็นบวกต่อ Net Interest Margin ของธนาคารขนาดใหญ่
การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้สะท้อนว่า ทั้งดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ได้เข้าสู่แนวโน้มขาขึ้นแล้ว และน่าจะมีการทยอยขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงในช่วงกลางปี 2566 เพราะแม้กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยก็ยังทิ้งห่างจากดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐถึง 2-2.25% จากดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่ระดับ 1.00% ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐอยู่ที่ระดับ 3-3.25% แถมธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ยังส่งสัญญาณว่า มีเป้าหมายจะขึ้นดอกเบี้ยไปอยู่ที่ 4.4% ภายในสิ้นปีนี้
ดังนั้น ประชาชนและครัวเรือนรายย่อยคงต้องเตรียมรับมือกับอัตราดอกเบี้ยที่จะขยับสูงขึ้น โดยเฉพาะใครที่จะก่อหนี้ใหม่ ทั้งในส่วนของสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อประกอบอาชีพ รวมถึงสินเชื่ออเนกประสงค์ที่มีบ้านหรือรถเป็นหลักประกัน โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว อิงกับ MRR หากขนาดการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่ใช้เป็นตัวอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเกิน 1% จะกระทบต่อยอดภาระผ่อนต่อเดือนของผู้กู้สินเชื่อบ้านทันที
แม้ธนาคารรัฐอย่างธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ซึ่งมีพอร์ตใหญ่ของสินเชื่อบ้าน 1.5 ล้านราย มูลหนี้ 1.6 ล้านล้านบาท จะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ในขณะนี้ แต่จะตรึงดอกเบี้ยได้นานสุดก็ได้ถึงสิ้นปี 2565 เท่านั้น ปีหน้าผู้กู้ซื้อบ้านก็ไม่สามารถที่หลีกเลี่ยงกับภาระผ่อนต่อเดือนที่จะเพิ่มขึ้นได้ ถือเป็นปัจจัยต้นทุนที่เข้ามาซ้ำเติมกับภาระค่าครองชีพที่สูงต่อเนื่องเข้าไปอีก
โดยเฉพาะในภาระหนี้ครัวเรือนของประเทศ ถือเป็น 1 ในความเปราะบางทางเศรษฐกิจ และอาจเป็นตัวฉุดรั้งให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยสะดุดลงได้ แม้หนี้ครัวเรือนจะมีอัตราการเติบโตที่ชะลอลงตลอดช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา โดยเฉพาะหนี้ก้อนใหญ่อย่าง หนี้บ้าน หนี้ประกอบอาชีพ และหนี้รถ แต่ยอดหนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 2 ปี 2565 ยังคงค้างในระดับสูงที่ 14.76 ล้านล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยตั้งข้อสังเกตุว่า หนี้ก้อนใหญ่ที่มีอัตราการเติบโตช้าลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นหนี้บ้าน หนี้เพื่อการประกอบอาชีพและหนี้เช่าซื้อรถยนต์ ยังไม่ชัดเจนว่า ครัวเรือนเพิ่มความระมัดระวังในการก่อหนี้ก้อนใหญ่ก้อนใหม่ในช่วงที่เศรษฐกิจและรายได้ของครัวเรือนยังมีความไม่แน่นอนในช่วงวิกฤตโควิด-19 หรือ อาจมองได้ว่า ครัวเรือนมีภาระหนี้เดิมอยู่ในระดับสูงและเริ่มมีข้อจำกัดในการก่อหนี้ใหม่ เพราะฐานะทางการเงินมีสัญญาณอ่อนแอลงกันแน่
หากเป็นเพราะข้อจำกัดของการก่อหนี้ใหม่ เพราะฐานะทางการเงินมีสัญญาณอ่อนแอลง ถือเป็นสัญญาณร้ายของเศรษฐกิจไทยทีีเดียว