เงินเฟ้อคือการวัดราคาสินค้า และบริการว่าเพิ่มขึ้นเท่าไรเมื่อเวลาผ่านไป เช่น การเปรียบเทียบราคาของสินค้า และบริการในวันนี้เทียบกับปีก่อนหน้า โดยอัตราเงินเฟ้อจะคำนวณมาจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงพาณิชย์
อัตราเงินเฟ้อเป็นตัวเลขที่สำคัญทางเศรษฐกิจและการวางแผนการลงทุน จึงมีการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตว่าจะอยู่ที่เท่าไหร่ การคาดการณ์เงินเฟ้อส่วนใหญ่ทำได้ 3 วิธีคือ
การคาดการณ์เงินเฟ้อ จากการสะท้อนผ่านตราสารทางการเงินที่แปรผันตามเงินเฟ้อจะเป็นการคำนวณหาค่า Breakeven inflation ที่เป็นส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อในรุ่นอายุเดียวกัน โดยส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั้ง 2 ชนิดนี้จะสะท้อนถึงการคาดการณ์เงินเฟ้อเฉลี่ยของนักลงทุนในช่วงอายุคงเหลือของพันธบัตร
ยกตัวอย่างเช่น Breakeven inflation 10 ปี อยู่ที่ 2% หมายความว่านักลงทุนมีมุมมองว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย ในช่วง 10 ปีข้างหน้าจะอยู่แถวๆ 2%
หลักการของการคำนวณ Breakeven inflation มาจากหลักการที่ว่า นักลงทุนย่อมจะได้รับผลตอบแทนสุทธิเท่าๆ กันไม่ว่าจะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อในรุ่นอายุเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 10 ปีให้ผลตอบแทนที่ 2.50% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อรุ่นอายุ 10 ปี อยู่ที่ 0.5% สะท้อนว่า Breakeven inflation 10 ปี เท่ากับ 2% ซึ่งจะทำให้ นักลงทุนได้รับผลตอบแทนสุทธิเท่ากันไม่ว่าจะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อดังกล่าวมิฉะนั้นแล้วจะเกิดการ arbitrage ระหว่างพันธบัตรทั้ง 2 ประเภทนี้จนทำให้มีผลตอบแทนสุทธิเท่ากัน
Breakeven inflation จะขึ้นลงตามการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตของนักลงทุน สมมุติว่าในปัจจุบัน Breakeven inflation 10 ปี อยู่ที่ 2% ถ้านักลงทุนคาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 10 ปีข้างหน้าจะสูงกว่า 2% นักลงทุนจะเลือกลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ เมื่อมีแรงซื้อพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อจากนักลงทุนจะทำให้ราคาพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อสูงขึ้นและอัตราผลตอบแทนลดลงส่งผลให้ Breakeven inflation สูงขึ้นที่สะท้อนการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นของนักลงทุน ในทางกลับกันหากนักลงทุนคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะต่ำกว่า 2% ก็จะเลือกลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและทำให้ Breakeven inflation ต่ำลง
จากอดีตที่ผ่านมา Breakeven inflation ของสหรัฐฯ สะท้อนการคาดการณ์เงินเฟ้อของนักลงทุนได้เป็นอย่างดี ในช่วงเดือน มี.ค. 2563 ที่ COVID-19 ระบาดอย่างหนักทั่วโลกและเกิดการปิดเมืองทำให้กระทบกับเศรษฐกิจ และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง ในช่วงนั้น Breakeven inflation 10 ปี ของสหรัฐได้ลดลงอย่างรวดเร็วจากระดับ 1.5% ในเดือน ก.พ. 2563 มาอยู่ที่ 0.5% ในเดือน มี.ค. ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีเลยทีเดียว
ตัวเลข Headline CPI ที่เป็นดัชนีชี้วัดอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐก็ปรับตัวลงจากระดับ 2% มาอยู่ที่ 1.5% ในเดือน มี.ค. และปรับลดลงต่อเนื่องจนมาอยู่ที่จุดต่ำสุดในรอบ 7 ปี ที่ 0.1% ในเดือน พ.ค. ในขณะที่ CPI ทำจุดต่ำสุดนั้น Breakeven inflation มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นสะท้อนความคาดหวังของนักลงทุนว่าอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว นับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2563 เป็นต้นมา CPI ของสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ 9.1% ในเดือน มิ.ย. 2565
การคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งจากแบบสอบถามและ Breakeven inflation ยังมีส่วนในการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอีกด้วย ในเดือน มิ.ย. 2565 ธนาคารกลางสหรัฐได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐขึ้นมาอยู่ที่ 1.5 – 1.75% นายเจอโรม พาวเวล ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐได้ให้สัมภาษณ์ในงานแถลงข่าวหลังการประชุมว่าหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นมาจากตัวเลขการคาดการณ์เงินเฟ้อที่สูงทำให้คณะกรรมการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้นในการประชุมครั้งนี้
จะเห็นว่าตัวเลชคาดการณ์เงินเฟ้อจาก Breakeven inflation มีประโยชน์กับคนหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักลงทุนที่สามารถส่งผ่านมุมมองการคาดการณ์เงินเฟ้อผ่านการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรชดเลยเงินเฟ้อ นอกจากกลุ่มนักลงทุนแล้วผู้กำหนดนโยบายการเงินอย่างธนาคารกลางก็ยังใช้เงินเฟ้อคาดการณ์เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายการเงิน ซึ่งการกำหนดนโยบายการเงินจากธนาคารกลางจะส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้รวมไปถึงตลาดหุ้น ตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์นี้จึงเป็นอีกปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ และนักลงทุนควรให้ความสนใจ