สศช. เตือนปีหน้ารับมือ “เศรษฐกิจชะลอตัว” จับตา Recession บางประเทศ

10 ต.ค. 2565 | 08:26 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2565 | 15:33 น.

เลขาฯ สศช. เตือนเศรษฐกิจไทยปีหน้ารับมือเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จับตาบางประเทศเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession แนะบริหารความเสี่ยง ทั้งการส่งออก การลงทุน ใช้จ่ายระมัดระวัง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกในปีหน้ามีแนวโน้มเกิดการชะลอตัวอย่างแน่นอน ส่วนจะมีประเทศใดเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) บ้างนั้น คงต้องดูสถานการณ์เป็นรายประเทศว่า เมื่อเกิดกับประเทศเหล่านี้แล้ว ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไร

 

“สศช. ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกับกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เพื่อประเมินสถานการณ์ แม้ว่าในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังจะค่อย ๆ ฟื้นตัวได้ดีมาแล้ว หลังผ่านการการระบาดของไวรัสโควิด-19 และวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้” นายดนุชา กล่าว

ทั้งนี้เพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่น่าจะได้รับผลกระทบแน่นอนนั้น ภาครัฐและเอกชนคงต้องเร่งหาแนวทางและเตรียมการรับมือโดยด่วน เช่น การหาตลาดส่งออกใหม่ เพื่อลดผลกระทบจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า 

 

พร้อมทั้งบริหารความเสี่ยงในปีหน้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งการบริหารการใช้จ่ายให้ระมัดระวังมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่นเดียวกับการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน

 

“ด้วยสถานการณ์โลกในปีหน้า ที่จะมีปัญหากันหลายขั้ว ประเทศไทยควรหาทางประเมินสถานการณ์ และต้องพยายามหาทางดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย” นายดนุชา ระบุ

นายดนุชา กล่าวว่า ในด้านการส่งเสริมการลงทุน และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยนั้น สศช. ยังเตรียมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อหารือถึงแนวทางการดึงนักลงทุนตามยุทธศาสตร์ใหม่ที่ บีโอไอ จะประกาศออกมา ขณะเดียวกันยังต้องหาทางส่งเสริมการใช้วีซ่า LTR ในปีหน้าด้วย

 

ส่วนกรณีที่อาจมีสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรงเกิดขึ้น และรัฐจำเป็นต้องออกมาตรการมารองรับหรือไม่นั้น เลขาฯ สภาพัฒน์ฯ ยอมรับว่า คงต้องดูสถานการณ์ในขณะนั้นก่อนว่าเป็นอย่างไร และต้องหามาตรการที่เหมาะสมออกมารองรับให้ตรงจุด โดยอาจไม่ถึงขั้นแจกเงินแบบโครงการเราไม่ทิ้งกัน ออกมาเหมือนที่เจอวิกฤตโควิด-19 ก่อนหน้านี้