ดอกเบี้ยขาขึ้น หนุน NIM แบงก์ขยับ Q4 สินเชื่อทั้งปีโต 5%

14 ต.ค. 2565 | 09:40 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ต.ค. 2565 | 16:40 น.

ตลาดสินเชื่อ 8 เดือนปี 65 ขยับขึ้น 5.7 % “ธุรกิจขนาดใหญ่-บัตรเครดิต-พีโลน” ขยายต่อเนื่อง แต่รายย่อยรายได้ยังไม่ปกติมีความเสี่ยงด้านเครดิต จับตา “ลูกหนี้ในมาตรการอีก 1.55 ล้านบัญชีบวกกลุ่มเปราะบาง เสี่ยงเป็นเอ็นพีแอล คาดโค้งท้ายดันแคมเปญเงิน ส่งผลเงินฝากทั้งปีโต 4.5%

อัตราดอกเบี้ยในระบบสะท้อนทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นที่แท้จริง หลังธนาคารพาณิชย์ตอบรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 2 อีก 0.25% ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากปรับขึ้น มากน้อยแล้วแต่ฐานะของแต่ละแห่ง ขณะที่ทิศทางการเติบโตของสินเชื่อยังคงเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง

 

ทั้งนี้ 18 ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศรายงานยอดสินเชื่อรวม (ไม่รวมอินเตอร์แบงก์) ณ สิ้นเดือน สิงหาคม 2565 พบว่า มียอดคงค้างทั้งสิ้น 14.74 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.7%จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากปีก่อน แต่สินเชื่อรายย่อยยังขยายตัวได้ในสินเชื่อธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน)

ด้านเงินฝากรวม ณ สิ้นเดือน สิงหาคม2565 มียอดคงค้าง 15.59 ล้านล้านบาท เติบโต 4.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเติบโต 2.4% หากเทียบสิ้นเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 15.22 ล้านล้านบาท ซึ่งสถานการณ์เงินฝากถือว่า กลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนโควิด-19 แล้ว

 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มสินเชื่อช่วงที่เหลือปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2566 การเติบโตจะอยู่ในกรอบระมัดระวังตามทิศทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยคาดการณ์อัตราเติบโตของสินเชื่อรวมสิ้นปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 5.0% (ประมาณ 4-5.5%) หลังจากเดือนสิงหาคมปีนี้ จะเห็นการชะลอตัวจากฐานสูงปีก่อน

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ทั้งนี้คาดว่า สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่จะขยายตัว 5.7% ในปีนี้และประมาณ 5.0-6.3% ในปีหน้า ส่วนสินเชื่อรายย่อยจะขยายตัว 3.7% ในปีนี้และประมาณ 3.5-4.7% ในปีหน้า โดยเป็นการเติบโตจากสินเชื่อบัตรเครดิต 8.5% ปีนี้และ 6.7-9.0% ในปีหน้า และสินเชื่ออุปโภคบริโภคอื่นๆ รวมทั้งพีโลนราว 6.0% ในปีนี้และ 5.3-6.7% ในปีหน้า

 

“ภาพรวมสินเชื่อปีนี้ น่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 5% โดยมีสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เติบโตต่อเนื่องจากปลายปีก่อน ซึ่งสินเชื่อธุรกิจเติบโตได้ดี จากเศรษฐกิจเพิ่งฟื้น ขณะสินเชื่อรายย่อยยังมีความเสี่ยงด้านเครดิต เนื่องจากรายได้ยังไม่กลับมาเป็นปกติ อีกทั้งหลายโปรดักต์สินเชื่อรายย่อยขยายตัวไปก่อนหน้าแล้ว แต่บางเซ็กเม้นท์ยังไปได้เช่น กลุ่มที่มีกำลังซื้อหรือเร่งตัดสินใจในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น”นางสาวกาญจนากล่าว

ดอกเบี้ยขาขึ้น หนุน NIM แบงก์ขยับ Q4  สินเชื่อทั้งปีโต 5%

อย่างไรก็ตาม สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ เดือนสิงหาคม มียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 357,240 ล้านบาท เติบโต 26%จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอตัวจากก่อนหน้าเคยขยายตัวกว่า 30% ขณะที่สินเชื่อธุรกิจบัตรเครดิตเติบโต 13.8% มียอดคงค้างอยู่ที่ 269,003 ล้านบาท

 

ส่วนแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยคาดว่า จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย(NIM) ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศขยับขึ้นในไตรมาส 4 ของปีนี้และต่อเนื่องปี 2566 โดยเฉพาะพอร์ตสินเชื่อที่สามารถขยับดอกเบี้ยได้มีสัดส่วนค่อนข้างมาก ทั้งนี้คาดว่า ในไตรมาส 4 จะเห็นส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.8%จากระดับ 2.72-2.75% ในไตรมาส3 นี้ จากไตรมาส 2 อยู่ที่ 2.62%

 

ทั้งนี้ แม้แนวโน้มภาพรวมธนาคารพาณิชย์จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ก็ไม่ทำให้ต้นทุนปรับลดลง เพราะธนาคารพาณิชย์ยังมีภาระที่ต้องกันสำรองค่าใช้จ่ายหนี้สูญต่อสินเชื่อ (Credit Cost) ในกรอบระมัดระวัง แต่แนวโน้มการกันสำรองฯชะลอลงจากก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19 ซึ่งธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศได้กันสำรองไปค่อนข้างสูงแล้ว

 

โดยเฉพาะการดูแลลูกหนี้ ทั้งที่อยู่ในมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อีกประมาณ 1.55 ล้านบัญชีหรือ 12.5% ของสินเชื่อรวมและลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาเป็นปกติ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังกดดันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ยังน่าห่วง แม้ปัจจุบันเอ็นพีแอลจะอยู่ในระดับต่ำ แต่แนวโน้มยังมีโอกาสขยับ โดยคาดว่า เอ็นพีแอลสิ้นปี จะอยู่ที่ระดับ 2.95-3.05% และปีหน้า 2.90-3.10%

 

สำหรับเงินฝากช่วงโค้งท้ายของปี 2565  วัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้น น่าจะหนุนให้แต่ละธนาคารพาณิชย์ทยอยออกโปรดักต์เงินฝากหลากหลายออกมา ผ่านแคมเปญต่างๆให้ผู้ออมได้เลือก เช่น แคมเปญเงินฝากประจำพิเศษ แต่ส่วนใหญ่เป็นการออกเพื่อทดแทนเงินฝากที่ครบอายุ ประกอบกับ 2-3 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังออกพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ ทำให้เงินออมบางส่วนถูกโยกออกไป ทำให้ทั้งปีคาดว่า เงินฝากจะขยายตัว 4.3-4.5%

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,826 วันที่ 13 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2565