เปิดสาเหตุ “ธปท.” ไม่ต่อมาตรการสินเชื่อ LTV ซื้อบ้านหลังที่ 2

31 ต.ค. 2565 | 09:16 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ต.ค. 2565 | 16:19 น.

“ธปท.” เปิดสาเหตุไม่ต่อมาตรการผ่อนคลายสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย LTV หลังสิ้นสุด 31ธ.ค.นี้ หวั่นมีผลกระทบข้างเคียงในอนาคต แนะผู้ขอสินเชื่อบ้านหลังที่ 2 เตรียมใช้หลักเกณฑ์เดิมวางเงินดาวน์ 10-20%

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ธปท.พิจารณาไม่ต่อมาตรการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย(LTV)ที่จะหมดอายุในวันที่ 31ธ.ค.นี้ เนื่องจากธปท.เล็งเห็นว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มกลับมาทยอยฟื้นตัว หากเทียบกับยอดจดทะเบียน การโอนบ้านใกล้เคียงกับก่อนโควิด-19แล้ว  ดังนั้นธปท.มองว่า มาตรการ LTV มีความจำเป็นน้อยลง อีกทั้งผู้กู้บ้านส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มที่ซื้อบ้านต่ำกว่า 3ล้านบาท  ที่สามารถขอสินเชื่อบ้านอยู่ในระดับสูงเต็ม 100%อยู่แล้ว

 

 


“ธปท.มองว่า การใช้มาตรการแบบผ่อนปรนไปนานๆ อาจส่งผลกระทบข้างเคียงตามมาได้ในอนาคต ดังนั้นจึงพิจารณาว่าควรยกเลิกมาตรการดังกล่าว ซึ่งการยกเลิก LTV ครั้งนี้ ทำให้ผู้ขอสินเชื่อบ้าน สัญญา ที่ 1และสัญญาที่ 2 ต้องกลับไปใช้หลักเกณฑ์ LTV เดิม”

 

 

ทั้งนี้เกณฑ์เดิมที่จะเริ่มมีผลบังคับปีหน้า กำหนดให้สัญญาที่ 1  สำหรับบ้านราคาต่ำกว่า 10ล้านบาท โดยวางดาวน์ต่ำสุดได้ถึง 10% ถึง0% บวกกู้สินเชื่อ top -up ได้เพิ่มอีก 10% ของมูลค่าบ้าน
 

ส่วนสัญญาที่ 2 ต้องวางดาวน์ขั้นต่ำ 10% หากผ่อนสัญญาที่ 1 มากกว่า2ปี หรือ 20% หากผ่อนสัญญา1 น้อยกว่า 2ปี ส่วนสัญญาที่ 3 วางดาวน์ขั้นต่ำ 30% 

 

 

ขณะที่บ้านราคาเกิน10ล้านบาท สัญญาที่ 1 วางดาวน์ขั้นต่ำ 10% สัญญาที่ 2 วางดาวน์ 20% และ สัญญาที่ 3 วางดาวน์ 30% 
 

นอกจากนี้ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด ธปท. ได้ผ่อนเกณฑ์การใช้มาตรการ LTV ชั่วคราว คือ
1. กำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) เป็นร้อยละ 100 (กู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกัน) สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (รวมสินเชื่ออื่นนอกเหนือจากเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและมีที่อยู่อาศัยนั้นเป็นหลักประกันหรือสินเชื่อ Top-up แล้ว)

 

 

ทั้งกรณี (1) มูลค่าหลักประกันต่ำกว่า 10 ล้านบาท ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 2 เป็นต้นไป  และ (2) กรณีมูลค่าหลักประกันตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 1 เป็นต้นไป

 


2. การผ่อนคลายนี้ให้เป็นการชั่วคราว สำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565