ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ซึ่งเสร็จสิ้นลงในวันพุธที่ 2 พ.ย.2565 ตามเวลาสหรัฐ โดยระบุว่า เมื่อไม่นานมานี้มีสัญญาณบ่งชี้ว่าการใช้จ่ายและการผลิตขยายตัวขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังคงเร่งตัวขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงภาวะไร้สมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ อันเป็นผลมาจากโรคระบาด, ราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น และแรงกดดันด้านราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง
การที่รัสเซียใช้กำลังทหารรุกรานยูเครนนั้น กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งประชาชนและเศรษฐกิจ โดยสงครามในยูเครนและเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง กำลังเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งคณะกรรมการ FOMC ให้ความสนใจเรื่องความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นอย่างมาก
คณะกรรมการ FOMC พยายามหาแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพและอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในระยะยาว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว คณะกรรมการฯ ได้ตัดสินใจปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้น 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00% และคาดว่าการปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกในวันข้างหน้านั้นจะเป็นเรื่องที่เหมาะสม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาจุดยืนด้านนโยบาย ซึ่งก็คือการลดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%
ในการกำหนดขนาดของการปรับขึ้นกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยในอนาคตนั้น คณะกรรมการฯ จะพิจารณาถึงการคุมเข้มนโยบายการเงินที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมาแล้วหลายครั้ง และพิจารณาถึงประเด็นที่ว่าการชะลอนโยบายการเงินจะมีผลกระทบอย่างไรต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเงิน
นอกจากนี้ คณะกรรมการจะยังคงปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ตามที่ได้อธิบายไว้ในแผนการปรับลดขนาดงบดุลบัญชีของเฟด (Plans for Reducing the Size of the Federal Reserve's Balance Sheet) ซึ่งมีการเผยแพร่ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%
ส่วนในการประเมินแนวทางที่เหมาะสมของนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการจะยังคงจับตาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า ขณะเดียวกันคณะกรรมการฯ จะเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เฟดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ของคณะกรรมการฯ โดยคณะกรรมการฯ จะประเมินข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงข้อมูลด้านสาธารณสุข ภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงการพิจารณาสถานการณ์ทางการเงิน และสถานการณ์ในต่างประเทศ
สำหรับกรรมการเฟดผู้ที่ออกเสียงสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของ FOMC ในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ เจอโรม เอช พาวเวล ประธานเฟด, จอห์น ซี วิลเลียมส์ รองประธานเฟด, ไมเคิล เอส บาร์, มิเชล ดับเบิลยู โบว์แมน, ลาเอล เบรนาร์ด, เจมส์ บูลลาร์ด, ซูซาน เอ็ม คอลลินส์, ลิซา ดี คุก, เอสเธอร์ แอล จอร์จ, ฟิลิป เอ็น เจฟเฟอร์สัน, ลอเร็ตตา เจ เมสเตอร์ และคริสโตเฟอร์ เจ วอลเลอร์