การเข้าถึงบริการทางการเงินไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ย APEC

16 พ.ย. 2565 | 11:15 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2565 | 18:22 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ อัตราการเข้าถึงบริการทางการเงินของไทย สูงกว่าค่าเฉลี่ย APEC และสูงกว่าภาพรวมโลก แต่การเข้าถึงบริการสินเชื่อ รวมถึงบัตรเครดิตหรือเดบิตยังต่ำ เป็นโจทย์ที่ไทยสามารถพัฒนาเพิ่มเติมได้

โจทย์สำคัญของการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ปี 2565นี้ จะมีหัวข้อหลักของการประชุม คือ เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล (Open. Connect. Balance.) สะท้อนความพยายามในการผลักดันเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิกไปสู่ทิศทางแห่งความยั่งยืน

 

หนึ่งในแนวทางการผลักดันให้เกิด Inclusive Growth จะต้องอาศัยการสนับสนุนให้กลุ่มคนต่างๆ ของสังคมเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ (Financial Inclusion) บนความคาดหวังว่า การได้รับเงินทุนที่เพียงพอ ในต้นทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยง และรวดเร็ว จะช่วยให้บุคคลหรือกิจการเหล่านั้น สามารถขยายการลงทุนและเพิ่มโอกาสทางรายได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

 

เมื่อเจาะเฉพาะบริบทของการเข้าถึงบริการทางการเงินใน APEC นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

 

  • อัตราการเข้าถึงบริการทางการเงินของไทยส่วนใหญ่อยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของ APEC  โดยจากข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ปี 2564 พบว่า ไทยมีสัดส่วนการมีจำนวนบัญชีทางการเงินกับผู้ให้บริการทางการเงินในระบบ การออมเงินที่สถาบันการเงิน การทำธุรกรรมชำระเงินทางดิจิทัล ในสัดส่วน 95.6%, 67.1% และ 92.0% ตามลำดับ สูงกว่าภาพรวมของ APEC ที่อยู่ที่ 82.1%, 61.4% และ 78.1% ตามลำดับและสูงกว่าภาพรวมการเข้าถึงบริการในด้านดังกล่าวของโลกด้วยเช่นกัน

การเข้าถึงบริการทางการเงินไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ย APEC

  • ไทยมีความโดดเด่นในมิติของการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล ซึ่งเป็นผลจากการผลักดันโครงการพร้อมเพย์ (PromptPay) และการฟรีค่าธรรมเนียมการโอนเงินช่องทางดิจิทัลตั้งแต่ปี 2560-2561 ต่อด้วยการผลักดัน Application เป๋าตังของภาครัฐทำให้การทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลของไทยเติบโตเร่งขึ้นมาก โดยปี 2564 สัดส่วนประชากรที่ทำธุรกรรมชำระเงิน 92.0% ซึ่งสูงกว่าภาพรวมของ APEC ที่ 78.1%

การเข้าถึงบริการทางการเงินไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ย APEC

อย่างไรก็ตาม ในมิติของการเข้าถึงบริการสินเชื่อรวมถึงบัตรเครดิตหรือเดบิตนั้น ไทยยังคงต่ำกว่าภาพรวมของ APEC ซึ่งเป็นโจทย์ที่ไทยสามารถพัฒนาเพิ่มเติมได้ แม้ว่าไทยจะมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงกว่าหลายประเทศใน APEC แต่การเพิ่มอัตราการเข้าถึงทางการเงิน (Financial Access) ในฝั่งสินเชื่อสำหรับกลุ่มที่มีข้อจำกัดต่างๆ (Unserved และ Underserved) ก็ยังมีความสำคัญและจำเป็น

 

เนื่องจากข้อมูลจาก World Bank ชี้ว่า อัตราการใช้บริการสินเชื่อจากผู้ให้บริการด้านสินเชื่อในระบบของไทยอยู่ที่ 30.4% ต่ำกว่าภาพรวมของ APEC ที่ 38.2%  เหตุผลสำคัญตามผลสำรวจการเข้าถึงบริการทางการเงินภาคครัวเรือนของธปท. ปี 2563 สะท้อนว่า มาจากข้อจำกัดด้านสถานะทางการเงินหรือรายได้ไม่เพียงพอ ไม่รู้จักไม่มีความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์สินเชื่อ และไม่กล้าไปติดต่อสถาบันการเงิน เนื่องจากกลัวถูกปฏิเสธ ขณะที่ มีประชากรไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่เลือกจะยังไม่ใช้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เนื่องจากยังไม่จำเป็นต้องใช้ (Self-Exclusion)

การเข้าถึงบริการทางการเงินไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ย APEC

ภาพต่างๆ ข้างต้น ย้ำว่า ขณะที่ทางการไทยและฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยนั้น ก็คงต้องเดินเกมเพิ่มอัตราการเข้าถึงสินเชื่อในระบบไปพร้อมๆ กัน โดยแนวทางที่สามารถดำเนินการได้ ยกตัวอย่างเช่น

  • เพิ่มการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการทั้งแบงก์และนอนแบงก์ โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ รวมถึงการให้ใบอนุญาตใหม่สำหรับ Digital-Only Bank หรือ Virtual Bank ภายใต้ความจำเป็นที่อาจต้องกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ตรงจุด เพื่อไม่ให้นำมาปล่อยสินเชื่อdลุ่มลูกค้าเดิมที่เข้าถึงสินเชื่ออยู่แล้ว และติดตามข้อมูลการปล่อยสินเชื่อของผู้ให้บริการอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบ

 

  • ช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมให้กับผู้ให้บริการสินเชื่อ โดยสนับสนุนให้เข้าถึงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ อาทิ ฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยของประเทศ ฐานข้อมูลที่มีเอกชนเป็นเจ้าของ อาทิ ธุรกรรมอีคอมเมิร์ส หรือโทรศัพท์มือถือ ซึ่งอาจต้องอาศัยการแก้กฎหมายและมีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  และต้องมีการชั่งน้ำหนักถึงผลดีผลเสียอย่างรอบคอบ รวมถึงประเมินความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติด้วย

 

  • เปิดโอกาสให้ผู้เล่นสามารถเข้าถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อาทิ ระบบการชำระเงิน ภายใต้การคิดต้นทุนการใช้บริการที่เหมาะสมระหว่างผู้ให้บริการ สุดท้ายแล้ว ต้นทุนผู้ให้บริการที่ต่ำลง จะช่วยส่งผ่านไปยังการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำลงจากเดิมได้

 

  • ให้ความรู้ทางการเงินและเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงปัญหาที่อาจจะตามมาของการใช้หนี้นอกระบบ ขณะที่การให้ความรู้ทางการเงิน ควรเน้นไปที่การให้ความรู้ทางการเงินเกี่ยวกับการใช้จ่ายที่เหมาะสม การทำบัญชีครัวเรือน การเรียงลำดับความสำคัญในการจ่ายหนี้ การออมเงิน รวมถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์

 

  • สร้างและส่งเสริมอาชีพ เป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้เกิดความยั่งยืนด้านกระแสรายได้ อันจะช่วยบรรเทาปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ และหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยนอกจากการส่งเสริมอาชีพทางเลือก และการรวมกลุ่มทางอาชีพแล้ว ทางการอาจสามารถต่อยอดด้านการค้าและการตลาด เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของครัวเรือนและกลุ่มอาชีพต่างๆ