แม้ภาครัฐพยายามช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ผ่านงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ แต่การก่อหนี้ของภาคประชาชนเองกลับตัวขึ้นเมื่อเทียบก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 สะท้อนจากยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตที่สูงแตะ 5.24 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 เพิ่มขึ้น 29.73% จากช่วงเดียวกันปี 2562 อยู่ที่ 4.04 แสนล้านบาท โดยปริมาณการใช้จ่ายรวมขยับเพิ่ม 10.85% วงเงิน 1.92 แสนล้านบาทจากช่วงเดียวกันปี 2562 อยู่ที่ 1.73 แสนล้านบาท
ขณะที่่การเบิกเงินสดล่วงหน้าหดตัวลง 25.98% กว่า 4,488 ล้านบาท มาอยู่ที่ 1.27 หมื่นล้านบาท จาก 1.72 หมื่นล้านบาท และที่น่าสังเกตการใช้จ่ายในประเทศของบัตรที่ออกจากต่างประเทศโตพุ่ง 33.97% จำนวน 2.14 หมื่นล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 1.60 หมื่นล้านบาท ส่วนยอดค้างชำระเกิน 3 เดือนมี 1.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.26% จากช่วงเดียวกันปี 2562 อยู่ที่ 8,203.59 ล้านบาท
นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาร์ดเอกซ์ จำกัด (CARDx) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การโอนพอร์ตธุรกิจบัตรมายัง CARDx มียอดสินเชื่อคงค้างราว 1.15 แสนล้านบาท แบ่งสัดส่วนธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล 50:50 โดยการดำเนินธุรกิจใหม่จะเริ่มหลังวันที่ 10 ธันวาคม 2565 ซึ่งภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตปีนี้ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายจะโตต่อเนื่องถึงปีหน้า จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับเข้ามาเพิ่มขึ้น
“แผนธุรกิจของ CARD x จัดทำเสร็จแล้ว เพียงรอบอร์ดพิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย แต่เป้าหมาย 3 ปีพอร์ตสินเชื่อจะแตะ 1.5 แสนล้านบาท โดยในระหว่างการโอนธุรกิจบริษัทได้ทำแคมเปญ 0% 4 เดือนสำหรับลูกค้าที่จะย้ายมาอยู่กับCARDx แคมเปญปีใหม่และแคมเปญเปิดประเทศของญี่ปุ่น”นายสารัชต์ กล่าว
นางพิทยา วรปัญญาสกุล ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มงานการตลาดและสื่อสารองค์กร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีช่วง 10 เดือนปี 2565 เติบโต 22% โดยเป็นยอดใช้จ่ายประมาณ 190,000 ล้านบาท ส่วนจำนวนบัตรใหม่อยู่ที่ 130,000 ใบและคาดว่าทั้งปี 2565 จะมีอัตราเติบโตด้านการใช้จ่ายผ่านบัตรที่ 20% หรือ 240,000 ล้านบาทและมีบัตรใหม่ 160,000 บาท
สำหรับไตรมาส 4 ปกติจะเป็นช่วงที่การทำกิจกรรมการตลาดจะคึกคักมาก โดยเฉพาะในเดือนธันวาคม เป็นช่วงที่ยอดการใช้จ่ายสูงสุดของทั้งปี ในไตรมาส 4 เคทีซียังคงมีความหลากหลายในเรื่องหมวดการใช้จ่ายและร้านค้ายอดนิยม และจะเน้นพิเศษในหมวดรับประทานอาหาร ช้อปปิ้ง เดินทาง สุขภาพ ประกันภัยและลงทุน
ที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี 2565 เคทีซีเริ่มทำการตลาดกับกลุ่มลูกค้ารายได้สูงมากขึ้น เพราะเป็นกลุ่มที่ยังคงมีกำลังซื้อที่ดี ดังนั้น ในไตรมาสนี้จะเห็นความร่วมมือของเคทีซีกับพันธมิตรรายใหม่ๆ โดยเฉพาะในหมวดร้านอาหาร ซึ่งเคทีซีมีความโดดเด่นอยู่แล้วในกลุ่มร้านอาหารเชน แต่ปัจจุบันยังมีพันธมิตรร้านอาหาร stand alone และร้านอาหารในโรงแรมมากมาย ที่มีสิทธิพิเศษพร้อมต้อนรับสมาชิกบัตร
“ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตเคทีซี ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 เท่ากับ 63,558 ล้านบาท เมื่อรวมสินเชื่ออื่นๆ จะรวมเป็นยอดลูกหนี้สินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 95,081 ล้านบาท และคาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างรวม ณ สิ้นปี 2565 จะมากกว่า 1 แสนล้านบาท”นางพิทยากล่าว
ส่วนภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตทั้งปี 2565 ใน 2 ไตรมาสที่ผ่านมา ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเคทีซีมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเคทีซีมีความเชื่อมั่นว่า จะยังคงสามารถเติบโตต่อไปอีกเนื่องจากการดำเนินชีวิตของประชาชนเริ่มกลับมาเป็นปกติ จึงมีการจับจ่ายใช้สอย พบปะสังสรรค์ รวมถึงการเดินทางไปยังต่างประเทศด้วย ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2562 คือ ก่อนยุคโควิด เกือบจะทุกหมวดการใช้จ่ายมีการเติบโตสูงกว่าปี 2562 แล้ว
ทั้งนี้ การเติบโตของยอดใช้จ่ายที่รักษาระดับการเติบโตที่ต่อเนื่องได้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับการเป็นสังคมไร้เงินสด สามารถใช้บัตรเครดิตในการชำระเงินในร้านค้าที่เคยรับแต่เงินสด และมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในการใช้จ่ายออนไลน์หรือสั่งอาหาร ดิลิเวอรี่ จึงทำให้เกิดความถี่ในการใช้บัตร
“เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ที่เพิ่งผ่านมา เคทีซีได้ร่วมกับ Google ในการเปิดให้บริการ Google Pay ซึ่งสมาชิกเคทีซีที่ใช้สมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ สามารถผูกบัตรเครดิตเคทีซี วีซ่าหรือมาสเตอร์การ์ดกับ Google Wallet และใช้แตะจ่ายได้อย่างสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ซึ่งจะช่วยให้สมาชิกใช้บัตรเครดิตเคทีซีในขีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกมากขึ้น”นางพิทยากล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการที่เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มีผลกระทบกับกำลังซื้อของประชาชน ดังนั้นไม่ว่าจะทำการตลาดเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตร หรือการขยายฐานบัตร เคทีซีจึงจำเป็นต้องขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่รายได้สูงขึ้น ซึ่งในปีนี้การขยายฐานบัตรใหม่ทำได้ยากขึ้น ถึงแม้จะมีผู้ต้องการสินเชื่อจำนวนมากก็ตาม แต่ก็มีคุณสมบัติไม่ตรงเกณฑ์การอนุมัติ
นายจเร เจียรธนะกานนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคาร ทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดบัตรปี 2565 สัญญาณการเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 3 โดยเฉพาะไตรมาส 4 ปีนี้แนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตจะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 3 เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซัน และเปิดประเทศแล้วทำให้คนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ และมีกิจกรรมการใช้จ่ายอย่างเห็นได้ชัด แต่หากเทียบช่วงเดียวกันปีนี้ สินเชื่อส่วนบุคคลจะเติบโตกว่าธุรกิจบัตร แต่ปีนี้การเติบโตจะกลับข้างกัน
“ปัจจุบันคนกล้าออกมาทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 เริ่มเห็นการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ส่วนทีทีบีเองยอดการใช้จ่ายก็ขยายตัวได้ดีเช่นกัน แต่ทีทีบีอยู่ในช่วงการรวมแบงก์ตัวเลขอาจจะไม่สามารถเทียบได้ถูกต้อง”นายจเรกล่าว
สำหรับสิ้นปี 2565 ทีทีบียังคงเป้าหมายการเติบโตยอดใช้จ่ายในอัตรา 40% มูลค่ายอดสินเชื่อคงค้าง 33,000 ล้านบาท ในแง่ของการอนุมัติยังคงปกติ โดยขึ้นอยู่กับช่องทางเว็บไซด์ข้อสังเกตุลูกค้าจะได้รับอนุมัติน้อยกว่า ส่วนหนึ่งเพราะข้อมูลไม่เพียงพอทำให้ยอดอนุมัติต่ำ ส่วนช่องทางสาขาโอกาสได้รับอนุมัติมากกว่า แต่ลูกค้าที่ไม่ได้รับการอนุมัติสามารถไปต่อได้เมื่อเอกสารหลักฐานครบ
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,838 วันที่ 24 - 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565