ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ แนะ 5 เรื่อง ที่ไม่ควรทำ ในการแก้หนี้ครัวเรือน เพราะหากทำแล้วจะเกิดผลเสีย
1.มาตรการพักชำระหนี้ เป็นวงกว้างเป็นเวลา ไม่ควรทำ! เพราะลูกหนี้มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มจากดอกเบี้ยที่เดินอยู่ตลอดในช่วงพักชำระหนี้ ลูกหนี้อาจเสียวินัยทางการเงินได้ เพราะชินกับการไม่ต้องจ่ายหนี้ จนอาจจูงใจให้ก่อหนี้เพิ่ม
อีกส่วนสถาบันการเงินอาจมีสภาพคล่องไม่พอปล่อยสินเชื่อใหม่ หรือช่วยเหลือลูกหนี้ที่เดือดร้อนจริง ๆ
2.มาตรการลบ / แก้ประวัติข้อมูลเครดิตของลูกหนี้ (NCB) ไม่ควรทำ! เพราะสถาบันการเงินไม่มีประวัติผู้กู้ เพื่อใช้พิจารณาปล่อยสินเชื่อ จนอาจไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ หรือหากปล่อยก็จะคิดดอกเบี้ยแพง ทำให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ยากขึ้น
3.ผ่อนชำระขั้นต่ำต่อเนื่อง (บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด) ลูกหนี้ไม่ควรทำ! เพราะลูกจะหนี้ปิดหนี้ได้ยากขึ้น เนื่องจากมีภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากหนี้ที่ยังค้างจ่าย
4.กู้หนี้ใหม่โปะหนี้เก่า (โดยเฉพาะกรณีกู้หนี้ใหม่ ที่ดอกเบี้ยแพงขึ้น เช่น กดเงินจากบัตรกดเงินสดมาจ่ายหนี้บัตรเครติต) ลูกหนี้ไม่ควรทำ! เพราะหนี้ไม่ลดลง แต่ลูกหนี้จะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยที่แพงกว่าเดิม
5.หยุดจ่ายหนี้ปล่อยเป็นหนี้เสีย ลูกหนี้ไม่ควรทำ! เพราะลูกหนี้อาจถูกฟองร้องยึดทรัพย์ และเสียประวัติลูกหนี้ที่ดี จนกู้สินเชื่อใหม่ได้ยากขึ้น
ดังนั้นแก้ปัญหาหนี้ร่วมกันได้อย่างถูกต้องและยั่งยืน จะต้องทำอย่างถูกหลักการ รู้ว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำ และต้องรักษาสมดุลที่ดีระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ด้วย
เช่น แก้หนี้ให้ตรงจุดเหมาะกับปัญหาของแต่ละคน ไม่สร้างภาระเพิ่มให้ลูกหนี้ ไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ เจ้าหนี้และลูกหนี้ต้องร่วมมือและตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาหนี้