นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตมีนโยบายชัดเจนที่จะเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ มุ่งสู่การเป็นผู้นำการจัดเก็บภาษี สิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาล เพื่อเดินหน้าสู่ความยั่งยืนโดยขณะนี้กรมอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม 4 เรื่องหลัก ซึ่งจะเห็นความชัดเจนจากการศึกษาได้ในสิ้นปีงบประมาณ 2566 นี้
ทั้งนี้ ได้แก่ 1. การเก็บภาษีคาร์บอน หรือ Carbon Tax ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาตัวอย่างจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นชาติเดียวในอาเซียนที่เริ่มต้นเก็บภาษีคาร์บอน โดยทำไว้ 2 รูปแบบ คือ การเก็บบนผลิตภัณฑ์ ซึ่งเหมาะกับสรรพสามิตตรงที่เก็บบนสินค้าโดยตรง แล้วอะไรที่ปล่อยคาร์บอนเยอะก็จะเก็บภาษี
และอีกรูปแบบเก็บจากการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิต ซึ่งจะต้องมีหน่วยวัดการปล่อยคาร์บอน และเก็บภาษีตามปริมาณที่ปล่อย โดยสิงคโปร์เก็บภาษี 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเมตตริกตันต่อคาร์บอนไดออกไซด์ ในส่วนนี้ต้องมีการทำงานร่วมกับกระทรวงสิ่งแวดล้อม ที่จะเป็นผู้เก็บภาษีส่งให้สรรพสามิตด้วย
นายเอกนิติ กล่าวว่า สิ่งที่กรมต้องการให้เกิดขึ้นสำหรับแผนการเก็บภาษีคาร์บอน คือ ต้องมีแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะสั้นนั้น จะเป็นการเก็บภาษีคาร์บอนบนสินค้าได้ เพื่อปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ให้สอดคล้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยจะเริ่มจากพิกัดสินค้าที่กรมมีอยู่แล้วนำมาเริ่มใช้ก่อน เช่น
แบตเตอรี่ ปัจจุบันคิดภาษีอยู่ที่ 8% หากทำลายสิ่งแวดล้อม อาจจะมีการปรับอัตราเพิ่มสูงขึ้น หรือหากผู้ประกอบการพัฒนาให้แบตเตอรี่สามารถรีไซเคิล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ กรมก็จะลดภาษีให้เป็น 0% เป็นต้น ซึ่งสามารถออกเป็นกฎหมายมาได้เลยในปี 2567 และให้เวลาผู้ประกอบการเตรียมความพร้อม 1 ปี
ส่วนระยะกลาง และระยะยาว จะเก็บจากการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต ซึ่งสิงคโปร์แนะนำว่าจะต้องสร้างการเรียนรู้เยอะมาก เพราะบริษัทที่จะถูกเก็บภาษีคาร์บอนต้องเต็มใจ และต้องมีบริษัทที่เป็นตัววัดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยต้องได้รับการยอมรับด้วย ซึ่งสิงคโปร์ใช้ระยะเวลาในการศึกษานานกว่า 8 ปี ขณะที่ในเมืองไทยตอนนี้ ESG ถือว่าเพิ่งเริ่มต้น โดยคาดว่าภาษีคาร์บอนจะเป็นตัวเริ่มต้น
นอกจากนี้ เรื่องที่กรมจะทำต่อมา 2. ไบโอพลาสติก ซึ่งเป็นเรื่องของ ESG และ BCG โดยนำเอาเอทานอลไปทำพลาสติก ซึ่งนอกจากเอทานอลจะนำมาทำเป็นเหล้า และนำมาผสมน้ำมันที่เป็นไบโอดีเซล แก๊สโซฮอล์ได้แล้ว ยังสามารถนำมาพัฒนาเป็นไบโอพลาสติกได้ด้วย โดยจะเป็นการรองรับเอทานอลที่จะล้นตลาดในอนาคตด้วย หากมีการใช้รถยนต์อีวีทั้งหมด
"จะเป็นการช่วยดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม และจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตไบโอพลาสติกด้วยโดยกรมก็จะสนับสนุนด้วยการคิดอัตราภาษีส่วนนี้ 0% เป็นต้น"
ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างศึกษา 3.น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน (sustainable aviation fuels) ซึ่งเป็นแนวคิดของยุโรป ที่นำเอาเอทานอลมาเติมน้ำมัน กรมก็ได้เตรียมศึกษาเรื่องนี้
และ 4. บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้สินค้าดังกล่าวไม่ได้อยู่ในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต กรมก็จะเปิดพิกัดกรมสรรพสามิตเพิ่มขึ้น เพื่อเข้าไปจับกุมผู้ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะเข้าไปปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมายได้ด้วย อย่างไรก็ดี ต้องมีการกำหนดพิกัดอัตราภาษีด้วยว่าจะให้อยู่ระดับใด เท่ากับภาษีบุหรี่ หรือสูงกว่า เป็นต้น