เงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2565 จากราคาอาหารและพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนและมาตรการ Zero Covid ของจีน ก่อให้เกิดปัญหาคอขวดของห่วงโซ่อุปทานจนกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการลงทุน
เปิดศักราชปี 2566 “ฐานเศรษฐกิจ” รวมมุมมองของกูรู เพื่อเป็นคู่มือประกอบการวางแผนทางการเงินและจัดสรรเงินลงทุนหรือจะเพิ่มสถานะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยรับมือและฝ่าความทั้งเศรษฐกิจโลกที่เสี่ยงจะชะลอตัว ซึ่งผลให้เกิดความผัผนผวนต่อตลาดเงินและตลาดทุนในปีนี้
สำหรับแนวโน้มอัตราผลตอบแทนปี 2566 ภาพรวมเห็นตรงกันว่า ราคาสินทรัพย์เกือบทุกประเภทยังคงผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจโลกและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไปคนละทิศคนละทาง ทั้งทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นและเศรษฐกิจขาลง
โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือ ธนาคารกลางยุโรปและสหรัฐยังคงต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่ตลาดมีความคาดหวังว่าจีน จะเป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซีย อาเซียนรวมทั้งไทย ซึ่งตลาดรับรู้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและคาดว่า จะแตะระดับ 1.75-2.00% ถึงสิ้นปี 2566
นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุนธนาคาร กรุงไทยเปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ช่วงครึ่งแรกปี 2566 ตลาดพันธบัตรระยะยาว (10 ปีขึ้นไป) น่าสนใจ ประกอบกับกำลังซื้อ ความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศฟื้นตัวดี ทำให้คลื่นการลงทุนน่าจะพุ่งเป้าไปที่พันธบัตรรัฐบาล (บอนด์) ไทยอายุยาวมากกว่า โดยเฉพาะกำลังซื้อจากนักลงทุนสถาบัน
ทั้งนี้ปัจจัยจูงใจมาจาก yeild curve บอนด์ไทยระยะยาวยังชันหรือค้างอยู่ แม้จะเริ่มลดลงบ้าง แต่ยังห่างจากช่วงกลางปี ซึ่งหากเทียบกับต่างประเทศ บอนด์ระยะยาวปรับลงมาตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคภายในประเทศ ทำให้นักลงทุนต่างชาติ มองบวก ยิ่งเสริมกำลังซื้อตลาดบอนด์ไทยให้แข็งแรง
อย่างไรก็ตาม จังหวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกยังเป็นคนละทิศคนละทาง หลังจากปีที่แล้วฝั่งตะวันตกฟื้นตัวและเริ่มถดถอยปีหน้ามีความหวังว่าจีนจะค่อยๆเปิดประเทศได้ถ้าจีนเปิดประเทศ ไทยจะได้รับประโยชน์ ขณะที่หุ้นฝั่งตะวันตก ยังไม่ดีอีกปีต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เพราะยุโรปมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังไม่เบ็ดเสร็จเช่นสหรัฐเศรษฐกิจเสี่ยงถดถอย
สอดคล้องกับนายจิตติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย)กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนในปี 2566 โฟกัสไปที่บอนด์ไทยที่ผลตอบแทนค่อนข้างสูง เป็นจังหวะซื้อสะสมในครึ่งปีแรก หลังจากการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2565 ทำให้สินทรัพย์ทั่วโลกปรับฐาน
ส่วนเงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 5% และทองคำอ่อนลงราว 3% จากช่วงเดียวกันปี 64 ขณะที่หุ้นโลก ยังไม่ต้องรีบร้อน เพราะโอกาสที่หุ้นทั่วโลกจะกลับมาฟื้นตัว คงจะเห็นในครึ่งหลังปี 2566 ที่อาจฟื้นตัวราว 15%
“ปี 2566 เป็นธีมแห่งการเปลี่ยนแปลงของไทย ทั้งการเมืองที่จะมีการเลือกตั้งหรือเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจ รับการเปิดเมืองจากหลายประเทศ แต่พฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไปในช่วงโควิด ต้องรอดูว่า จำนวนนักท่องเที่ยวหรือบริษัทต่างประเทศจะกลับเข้ามาลงทุนในไทยหรือไม่”นายจิตติพล กล่าว
ส่วนสินทรัพย์ทางเลือกอย่างพลังงาน มีสัญญาณดี เป็นทางเลือกที่ทุกคนอยากได้รถยนต์ไฟฟ้า(EV) แต่หากเศรษฐกิจหรือรายได้ไม่ตามมา ก็ต้องระมัดระวัง ทั้ง ภาคธุรกิจและครัวเรือนยังจะต้องปรับตัวเรื่องต้นทุนทางการเงินและวิธีหารายได้ที่สอดรับกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ขณะที่หุ้นกู้ อาจจะดูผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องรับ โดยพิจารณาว่า เป็นธุรกิจประเภทเก่าที่พยายามจะระดมทุนมาต่อเงินกู้เดิมหรือไม่
สำหรับผู้ที่ต้องการสภาพคล่อง ธนาคารกสิกรไทยให้มุมมองว่า เงินฝากมีสภาพคล่อง ปลอดภัยและความเสี่ยงต่ำ แต่การออมเงินระยะสั้นหรือยาว ขึ้นกับความต้องการใช้เงินหรือสภาพคล่องของแต่ละคน ใครที่ต้องการความคล่องตัว เงินออมระยะสั้นไม่เกิน 1ปี แม้ดอกเบี้ยอาจไม่สูง แต่มีความคล่องตัว หากใครมีเงินก้อนหรือมีเงินสำรองและยังไม่มีแผนการใช้จ่าย จะเป็นโอกาสดีที่จะหาผลตอบแทนกับการออมเงินระยะยาว
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดคาดว่า ตลาดเงินฝากปี 2566 อาจขยายตัว 4-5.5% จากสิ้นปี2565 โดยสิ้นเดือนตุลาคม 2565 ยอดเงินฝากรวม 15.77 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็น CASA 74.5% และเงินฝากประจำ 25.5% โดยธนาคารพาณิชย์ในระบบยังมีแนวโน้มจะขยับอัตราดอกเบี้ยทั้ง เงินฝากและเงินกู้ จึงเป็นโอกาสเลือกหาเงินออมในการรับผลตอบแทนที่ดีได้
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,850 วันที่ 5 - 7 มกราคม พ.ศ. 2566