จากกรณี บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ ( ALL) แจ้งผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้รุ่น (ALL244A) งวดที่ 5 ในวันที่ 3 มกราคม 2566 จำนวน 10.65 ล้านบาท จากการที่บริษัทขาดสภาพคล่อง ทำให้มีกระแสเงินสดไม่เพียงพอ โดยหุ้นกู้ดังกล่าวมีผู้ถือหุ้นกู้จำนวน 573 ราย และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ คือ บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY โดยหุ้นกู้ดังกล่าวมีมูลค่ารวม 709.90 ล้านบาท ออกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 และครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 1 เมษายน 2567
อย่างไรก็ดี จากปัญหาขาดสภาพคล่องของบริษัท จนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระคืนหนี้นั้น "ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล " ได้สืบค้นข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ( ThaiBMA ) พบว่า หุ้นกู้ที่ออกโดย ALL มีจำนวนทั้งสิ้น 7 รุ่น มูลค่า 2,334.20 ล้านบาท จำนวนนี้เป็นหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในปี 2566 จำนวน 4 รุ่น มูลค่า 1,204.50 ล้านบาท ประกอบด้วย
ส่วนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2567- 2568 มี 3 รุ่น ประกอบด้วย
ทั้งนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปีนี้ คือในเดือนเมษายน ,พฤษภาคม และตุลาคมจำนวน 4 รุ่น มูลค่า 1,204.50 ล้านบาท เป็นที่จับตาว่าท้ายสุด ALL จะหาทางออกอย่างไร ? เนื่องจากสภาพคล่องของบริษัท โดยพิจารณาจากงบการเงินพบว่า เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดที่มีอยู่ในมือเหลือเพียง 14.83 ล้านบาท นอกจากนั้นส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 1,910.88 ล้านบาท เมื่อเทียบกับหนี้สินมากถึง 5,765.59 ล้านบาท ทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน หรือ D/E สูงถึง 3.02 เท่า สะท้อนถึงภาระหนี้สิน
โดยในฝั่งหนี้สิน งบดุล ณ 30 กันยายน 2565 พบว่า บริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนจำนวนถึง 4,162.55 ล้านบาท ส่วนนี้เป็นเงินกู้ระยะสั้น 991.19 ล้านบาท เป็นเงินกู้ระยะสั้นจากบุคคลภายนอกจำนวน 980.79 ล้านบาท และมีเงินกู้ระยะสั้นจากบุคคลและกิจการที่เกี่ยวข้องกันจำนวน 10.40 ล้านบาท
ขณะที่เงินกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดชำระภายใน 1 ปิ มีจำนวน 1,883.51 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกู้ระยะยาวจากสถาบันการเงินที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี จำนวน 903.20 ล้านบาท, เงินกู้ระยะยาวจากบุคคลภายนอกที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี จำนวน 153.65 ล้านบาท, หุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี จำนวน 819.18 ล้านบาท และหนี้สินตามสัญญาเช่าที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี จำนวน 7.48 ล้านบาท
ผลประกอบการงวด 9 เดือนปี 2565 ( สิ้นสุด 30 ก.ย.65) บริษัทขาดทุนสุทธิ 394.58 ล้านบาท เทียบปี 2564 ที่ขาดทุนสุทธิ 347.20 ล้านบาท
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงภาวะตลาดตราสารหนี้ ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในส่วนของการผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ คงจะต้องพิจารณาเป็นรายบริษัท เพราะการผิดนัดชำระหนี้ในบางบริษัท ถือเป็นเรื่องปกติ ที่จะเกิดขึ้นได้กับบางธุรกิจ ซึ่งในภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ไทย ยังไม่มีความน่ากังวลสภาพแวดล้อมโดยรวมยังไปได้ดี โดยหุ้นกู้ที่มีปัญหาถือว่ามีจำนวนน้อยและอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ในลักษณะขยายวงกว้างหรือเป็นลูกโซ่ต่อเนื่อง
นอกจากนี้ แม้ทิศทางดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้นแต่ภาวะเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ จะไม่ส่งปัญหาต่อตลาดตราสารหนี้เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยปรับขึ้นไม่สูงมากนัก และมีรูปค่อยเป็นค่อยไป
"ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ไม่น่ากังวล ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บางบริษัทที่จะมีปัญหาในการประกอบธุรกิจ หุ้นกู้ที่มีปัญหามีจำนวนน้อย และระดับยอดคงค้างยังเป็นไปตามปกติ” นายไพบูลย์ กล่าว
บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า กรณี ALL ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ ALL244A (วงเงิน 709.9 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 7% มีกำหนดไถ่ถอน 1 เม.ย. 2567) งวดที่ 5 วงเงิน 10.65 ล้านบาท ในวันที่ 3 ม.ค. 2566 เหตุผลจากขาดสภาพคล่อง มีเงินสดหมุนเวียนไม่เพียงพอ
โดยผลประกอบการหดตัวต่อเนื่องจากกำไรปี2562 ที่ 501 ล้านบาท ลดลงมีกำไร 241 ล้านบาทปี 2563 ก่อนพลิกเป็นขาดทุน 347 ล้านบาทปี 2564 และ 394 ล้านบาทใน 9 เดือนแรกของปี 2565
ขณะที่สถานะการเงินสิ้น ก.ย. 2565 มีเงินสดในมือ 15 ล้านบาท,หนี้สินที่มีดอกเบี้ยจ่ายรวม 4.4 พันล้านบาท (เป็นหนี้ระยะสั้น 2.87 พันล้านบาท และ 1.53 พันล้านบาท เป็นหนี้ระยะยาว) คิดเป็น Net Gearing ที่ 2.31 เท่า
สำหรับประเด็นการผิดนัดชำระดอกเบี้ยของ ALL ถือเป็นเรื่องเฉพาะตัวของบริษัทที่มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน เชื่อว่าไม่กระทบต่อภาพรวมกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ฝ่ายวิจัยศึกษาทั้ง 15 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่ถือเป็นบริษัทรายกลาง-ใหญ่ พบว่ายังมีฐานะการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี พิจารณาจากอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้วัดความเสี่ยงธุรกิจ คือ อัตราหนี้สินต่อทุนสุทธิ (Net Gearing) อยู่ในกรอบ 1-1.5 เท่า มาโดยตลอดกว่า10 ปีที่ผ่านมา และล่าสุด ณ ก.ย. 2565 อยู่ที่ระดับ 0.95 เท่า โดยมีภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยจ่ายรวม 3.46 แสนล้านบาท (รวม Perp Bond) และสัดส่วน 59% หรือ 2.04 แสนล้านบาท อยู่ในรูปแบบหุ้นกู้ระยะสั้นและระยะยาว
หุ้นกู้อสังหาฯครบดีล 6.1 หมื่นล้านบาท
บล.เอเซีย พลัส มีมุมมองว่า หากพิจารณาถึงระยะเวลาชำระคืนหุ้นกู้ภายใน 1 ปีข้างหน้าทั้งสิ้น 6.1 หมื่นล้านบาท หลัก ๆ สัดส่วนเกือบ 50% มาจาก LH (1.24 หมื่นล้านบาท), SPALI (8.5 พันล้านบาท) และ SIRI (8 พันล้านบาท) ซึ่งล้วนถือเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสายป่านยาว เน้นธุรกิจแนวราบที่มีกระแสเงินสดหมุนเร็ว และการเงินยังอยู่ในเกณฑ์ดี จึงเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในเรื่องสภาพคล่องแต่อย่างใด
คงแนะนำลงทุน"เท่าตลาด"สำหรับกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย เลือกหุ้นเด่นที่มีพอร์ตกระจายตัว และให้อัตราเงินปันผล (ดีวิเดนท์ยีลด์) เกิน 5% ต่อปี ได้แก่ AP ให้ราคาเป้าหมายที่ 15.50 บาท, LH ให้ราคาเป้าหมายที่ 11.50 บาท, SIRI ให้ราคาเป้าหมายที่ 2.20 บาท และหุ้น SC ให้ราคาเป้าหมายที่ 4.88 บาท