เช็คเลย! ยื่นแบบภาษีเงินได้ Youtuber คำนวณอย่างไร หักค่าใช้จ่ายได้หรือไม่

10 ม.ค. 2566 | 09:25 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2566 | 16:25 น.

เปิดสูตรคำนวณภาษีเงินได้ Youtuber ประเภทเงินได้ที่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ ก่อนยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ชี้ต้องยื่นภาษีปีละ 2 ครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.2566 ถึงเวลาที่ผู้มีเงินได้ถึงเกณฑ์ตามที่กรมสรรพากรกำหนด ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90, ภ.ง.ด.91, ภ.ง.ด.95) ในปีภาษี 2565

 

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันมีอาชีพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตามกระแสนิยมสังคมออนไลน์ เช่น รายได้จาก Youtuber ซึ่งอาจจะยังมีข้อสงสัยว่า รายได้จาก Youtuber คำนวณรายได้อย่างไร และสามารถหักค่าใช้จ่ายอย่างไรได้บ้าง

 

โดย “ฐานเศรษฐกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลดังกล่าว มาชี้แจงรายละเอียดให้เข้าใจกันมากขึ้น ดังนี้

 

1) ประเภทเงินได้ที่สามารถหักค่าใช้จ่าย เหมา 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

  • จาก Google Ad ส่วนแบ่งค่าโฆษณา ตามมาตรา 40 (2)
  • รับจ้างรีวิว Review สินค้า ตามมาตรา 40 (2)
  • งานโชว์ตัว ออกงานต่างๆ ตามมาตรา 40 (2)

 

2)  ประเภทเงินได้ที่สามารถหักค่าใช้จ่ายเหมา 60% หรือหักตามจริง

  • ขายสินค้าออนไลน์ ตามมาตรา 40 (8)

 

3) ประเภทเงินได้งานอีเวนท์ พรีเซ็นเตอร์ หรือการแสดงที่มีลักษณะเป็น “นักแสดงสาธารณะ” ที่หักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 40 (8) ได้แก่

  • ส่วนที่ไม่เกิน 30,000 บาท หัก 60%
  • ส่วนที่เกิน 30,000 บาท หัก 40% รวมกันไม่เกิน 600,000 บาท
  • หักตามจริง (มีหลักฐานค่าใช้จ่าย)

 

ทั้งนี้ หาก Youtuber มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คนโสด มีรายได้เกิน 60,000 บาทต่อปี คนมีคู่สมรส มีรายได้รวมกันเกิน 120,000 บาท ให้คำนวณภาษีจากรายได้สุทธิ (รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน) คูณด้วยอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

ถ้ามีรายได้มากกว่า 120,000 บาทต่อปี (ไม่รวมเงินเดือน) ต้องคำนวณภาษีอีกวิธีหนึ่ง คือ รายได้ คูณ 0.5% แล้วมาเปรียบเทียบกับวิธีคำนวณตามปกติ

 

หากวิธีนี้มีภาษีเกิน 5,000 บาท ให้เสียภาษีตามวิธีที่สูงกว่า (หากไม่เกิน 5,000 บาท ให้เสียภาษีตามการคำนวณวิธีปกติ)

 

โดยกรมสรรพากร กำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีละ 2 ครั้ง ดังนี้

 

  • ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94)

กำหนดยื่นตั้งแต่ 1 ก.ค. - 30 ก.ย. ของปีนั้นๆ โดยนำเงินได้ที่ไม่ใช่เงินได้ตามมาตรา 40(1) (2) ตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน ของปีนั้น มารวมคำนวณภาษี

 

  • ภาษีประจำปี (ภ.ง.ด.90)

กำหนดยื่นตั้งแต่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. ของปีถัดไป โดยนำเงินได้ทุกประเภทตั้งแต่เดือน มกราคม – ธันวาคม ของปีนั้น มารวมคำนวณภาษี และนำภาษีที่ชำระตาม ภ.ง.ด.94 มาเครดิตภาษีได้

 

  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม

เมื่อมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการทั้งปีเกิน 1.8 ล้านบาท ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือยื่นผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th