บิ๊กธุรกิจชิง Virtual Bank ธปท.เปิดทาง 3 รายนำร่อง

13 ม.ค. 2566 | 07:43 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ม.ค. 2566 | 09:32 น.

คลอดแล้ว ธนาคารไร้สาขา Virtual Bank ธปท.ประกาศ 3 รายชื่อไตรมาส 2 ปี 67 ให้เวลาเตรียมตัว 1 ปี ก่อนเริ่มดำเนินการกลางปี 68 เผยกว่า 10 รายสนใจ มีต่างชาติ 3 ราย AQUA ติง 3 รายน้อยไป แถมเปิดทางแบงก์เดิมร่วม ปิดทางรายใหม่

หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ออกแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (Financial Landscape) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยมุ่งหวังให้ภาคการเงินมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน

บิ๊กธุรกิจชิง Virtual Bank ธปท.เปิดทาง 3 รายนำร่อง

ล่าสุด ธปท.ได้จัดทำเอกสารรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อเปิดโอกาสให้มีผู้ให้บริการประเภทใหม่ คือ ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศแบบไร้สาขา (Virtual Bank) ระหว่างวันที่ 12 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อสรุปหลักเกณฑ์ภายในไตรมาสแรกปี 2566

จากนั้นจะเริ่มรับสมัครหลังไตรมาส 1 โดยจะใช้เวลา 6 เดือนและปิดรับสมัครในไตรมาส 4 พร้อมพิจารณาคัดเลือกผู้ที่เหมาะสม โดยธปท.จะใช้เวลาพิจารณา 6 เดือนและกระทรวงการคลังจะพิจารณาอีก 3 เดือน และประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับความเห็นชอบให้จัดตั้ง “Virtual Bank” ประมาณไตรมาส 2 ปี 2567 จากนั้นจะให้เวลาเตรียมความพร้อมก่อนเปิดให้บริการ 1 ปี ก่อนเปิดให้บริการในไตรมาส 2 ปี 2568 เบื้องต้นธปท.คาดว่าจะเสนอรายชื่อต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่เกิน 3 ราย

 

ติง 3 รายน้อยไป

นายฉาย บุนนาค รักษาการประธานกรรมการบริหาร บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AQUA เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทฯสนใจที่ยื่นขอจัดตั้ง Virtual Bank แต่ขณะนี้เกณฑ์ยังไม่นิ่ง เพราะต้องรอเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อน แต่เบื้องต้นเกณฑ์ถูกบล็อก เพราะเปิดให้ธนาคารพาณิชย์เดิมยื่นเสนอได้ด้วย ซึ่งจะได้รับพิจารณาก่อนอยู่แล้ว จึงเป็นข้อจำกัดเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายใหม่และที่สำคัญระยะแรกจะคัดเหลือเพียง 3 รายเท่านั้น

นายฉาย บุนนาค รักษาการประธานกรรมการบริหาร บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

 

“ไม่เข้าใจว่า ทำไมเขาต้องนำธนาคารพาณิชย์เดิมมารวมด้วย ทำไมไม่เป็นคนใหม่เข้ามาเลย ไม่งั้นก็ไม่สามารถลดความเหลื่อมลํ้าทางการเงิน หรือ Financial Inclusionได้ ซึ่งผมก็เข้าใจว่า แรก ๆ ถ้าเยอะไป จะเกิดเป็นความเสี่ยงกับผู้ฝากเงิน แต่เขาไม่ควรประกาศว่า จะรับแค่ 3 ราย เพราะจะทำให้คนที่สนใจถอดใจได้” นายฉาย กล่าว

ด้านนางสาวมนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการร่วม บริษัท บริษัทแอสเซนด์ มันนี่ จำกัดผู้ให้บริการอีวอลเล็ต ภายใต้ชื่อ “ทรูมันนี่” กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทสนใจเปิดให้บริการเทคโนโลยีการเงินหลากหลายอยู่แล้วเช่นเดียวกับ Virtual Bank ที่ธปท.เปิดให้ผู้สนใจขอรับใบอนุญาตและกำหนดเกณฑ์เบื้องต้นออกมา

“ขณะนี้มีผู้เล่นหลายรายอยากเข้าร่วม แต่ขณะนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งบริษัทยังมีข้อคิดเห็นจำนวนมากที่จะส่งกลับไปยังธปท.ในขั้นตอนของการทำประชาพิจารณ์” นางสาวมนสินีกล่าว

ขณะที่นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY กล่าวว่า กลุ่มสบายเทคโนโลยีสนใจเข้าร่วมขอใบอนุญาตจากธปท. เพราะเชื่อมั่น ในการให้บริการและความพร้อมอีโคซิสเต็มบริการดิจิทัล และเครือข่ายบริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศ

นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)

“เท่าที่ทราบธปท.เปิดให้บริการเบื้องต้น 3 ราย 2 รายเป็นรายใหญ่คือ 1.กลุ่มซีพีและทรู และ 2.กลุ่มกรุงไทย ,เอไอเอส และกัลฟ์ และเปิดให้อีก 1 รายที่เป็นรายเล็ก ซึ่งมองว่า เป็นโอกาสกลุ่มสบายเทคโนโลยี ซึ่งขณะนี้มีต่างชาติ 2-3 ราย ต้องการร่วมกับกลุ่มสบายเทคโนโลยีในการให้บริการเวอร์ชวลแบงกิ้งในไทย”นายชูเกียรติ กล่าว

 

KTB ผนึกพันธมิตรพร้อม

ธนาคารกรุงไทยถือเป็นธนาคารพาณิชย์รายแรกที่เตรียมความพร้อม โดยเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2565 ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU)กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) หรือ ADVANC เพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ให้บริการ Virtual Bank ซึ่งธนาคารมองว่ ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ และตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าทั้งกลุ่มลูกค้าเดิมๆ และลูกค้าใหม่มากขึ้น

 

เปิด 7 คุณสมบัติเข้ม

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้สนใจที่จะขอจัดตั้ง Virtual Bank แล้ว 10 ราย ซึ่งมีทั้งธนาคารพาณิชย์เดิมและผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช้สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) และในจำนวนนี้มีต่างชาติ 3 ราย ซึ่งภายในไตรมาส 2 ปี 2567 จะมีการประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเพียง 3 รายเท่านั้น

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.

“ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก 3 ราย จะมีระยะเวลาการเตรียมตัวและการจัดทำระบบทางด้านไอที หรืออื่นๆ ภายในระยะเวลา 1 ปี จึงคาดว่าผู้ประกอบการจะสามารถเปิดให้บริการ Virtual Bank ภายในกลางปี 2568” นายธาริฑธิ์ กล่าว

สำหรับคุณสมบัติในการจัดตั้ง Virtual Bank ประกอบด้วย 7 ข้อคือ

  1. ธุรกิจต้องมี Business Model ที่ตอบโจทย์ Green Line อย่างยั่งยืน ขยายฐานลูกค้า พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์และบริหารรายได้และต้นทุนได้อย่างยั่งยืน
  2. มีธรรมาภิบาล ทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่กรรมการ ผู้บริหารระดับสูงที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและมีธรรมาภิบาล
  3. มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการดิจิทัล สามารถออก แบบการให้บริการที่สร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า
  4. มีการใช้เทคโนโลยีที่ยืดหยุ่น คล่องตัว ลดต้นทุนการดำเนินงานและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว
  5. มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงธุรกิจการเงินสามารถดำเนินธุรกิจ Virtual Bank ได้อย่างยั่งยืนไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบ
  6. มีความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลายเพื่อนำไปใช้พัฒนาบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม
  7. มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท (ณ วันเปิดกิจการ) กรณีผู้ถือหุ้นเป็นต่างชาติ

ส่วนรูปแบบของ Virtual Bank ของไทยนั้นมี 5 คุณลักษณะคือ

  1. เป็นธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนจัดตั้งในไทย
  2. ให้บริการทางการเงินได้เต็มรูปแบบ โดยเน้นรายย่อยไม่มีหลักประกัน สินเชื่อ SMEs และเงินฝากที่ยังไม่สามารถรับบริการทางการเงินอย่างพอเพียงและเหมาะสม
  3. ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก (ไม่มีสาขาของตนเอง)
  4. มีความเป็นเลิศ ทั้งด้านเทคโนโลยีการใช้ข้อมูลที่หลากหลายเพื่อพัฒนาและให้บริการทางการเงิน 
  5. มีธรรมาภิบาลสามารถบริหารความเสี่ยงและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องได้

 

ธปท.เข้ม 3 ความเสี่ยง

นายธาริฑธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรอบการกำกับดูแลตามความเสี่ยง Virtual BanK จะใช้เป็นกรอบเดียวกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่จะมีความเข้มข้น โดยให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาล วัฒนธรรมด้านความเสี่ยงรวมถึง 3 ประเด็นคือ

  1. ความต่อเนื่องในการให้บริการของระบบไอที ต้องมีความมั่นคง มีความเสถียรของระบบไอที เช่น ระบบขัดข้องไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อปีและถ้าระบบสะดุดต้องกู้ระบบได้ภายใน 2 ชั่วโมงต่อครั้ง
  2. ประสิทธิภาพการดูแลลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล เชื่อเมื่อเกิดระบบสะดูด ผู้ให้บริการต้องมีแผนดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง(BCP) เพื่อรับมือฉุกเฉิน เพื่อให้ลูกค้าใช้ช่องทางอื่นได้
  3. การใช้บริการจากผู้ให้บริการภายนอก

“ช่วงเฟส 3-5 ปีผู้ให้บริการ ต้องดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งธปท.จะติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ดำเนินกิจการอย่างมั่นคงไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบ หากผ่านเงื่อนไขแล้วธปท.จะลดความ เข้มข้นในการติดตามและให้ออกจากเฟส เป็นธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาสามารถดำเนินการต่อไป แต่กรณีผู้ให้บริการไม่สามารถดำเนินกิจการภายใต้เงื่อนไข ก็ต้องปิดกิจการตามกระบวน การที่ได้เสนอมาตั้งแต่ขั้นตอนสมัครแล้ว”นายธาริฑธิ์กล่าวสรุป

 

ผู้สนใจแล้ว 10 ราย

นางสาววิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้สนใจเข้ามาสอบถามการจัดตั้ง Virtual Bank แล้วกว่า 10 ราย ซึ่งมีผู้ประกอบการหลายรูปแบบ ทั้งสถาบันการเงิน และไม่ใช่สถาบันการเงิน โดยในจำนวนดังกล่าวจะเป็นต่างชาติจำนวน 3 ราย

นางสาววิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท.

ทั้งนี้ผู้ที่สามารถขอจัดตั้ง Virtual Bank มีความหลากหลายทั้งแบงก์ นอนแบงก์ โดยสามารถขอใบอนุญาตได้ทั้งมาขอเดี่ยวหรือจับมือพันธมิตรและต่างชาติ กรณีเป็นต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ไม่เกิน 25% แต่หากต้องการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจะต้องเข้ามาขออนุญาตเป็นรายกรณี ซึ่งสามารถผ่อนปรนได้ไม่เกิน 49%

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,852 วันที่ 12 - 14 มกราคม พ.ศ. 2566