นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยกลุ่มทิสโก้ประเมินว่า จะขยายตัวที่ระดับ 3-4% โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และการบริโภคภาคเอกชนที่มีทิศทางขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการจ้างงานในภาคบริการ อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการส่งออกที่อาจหดตัวลงตามการชะลอตัวของประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ และยุโรป ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าจะทะยอยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ มาอยู่ที่ระดับ 2%
ดังนั้นท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ในปี 2566 นี้ กลุ่มทิสโก้ จึงปรับกลยุทธ์เข้าสู่โหมดของ การเติบโต โดยนำความเชี่ยวชาญในทุกแขนงมาพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า ภายใต้การดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืน ด้วยกลยุทธ์ที่ครอบคลุมในทุกมิติ ดังนี้
“ปีนี้กลุ่มทิสโก้ ปรับเป้าหมายเข้าสู่โหมดของการเติบโต โดยยังคงดำเนินการภายใต้กรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดี ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ”นายศักดิ์ชัยกล่าว
ขณะเดียวกันจะเดินหน้าบ่มเพาะวัฒนธรรมการสร้างนวัตกรรม (Culture of Innovation) โดยบูรณาการทั้งบุคลากร (People) ขั้นตอน (Process) เทคโนโลยี (Technology) และข้อมูล (Data) เพื่อให้สามารถออกแบบการให้บริการลูกค้าในลักษณะของ Lifetime Solution ได้อย่างชัดเจนและรอบด้านขึ้น เพื่อเป็นสถาบันการเงินที่ลูกค้าไว้วางใจและใช้บริการในระยะยาว
สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้ปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ 7,222 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเทียบกับปี 2564 สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อที่สามารถเติบโตได้ถึง 7.9% ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 2.2% จากปีก่อนหน้า พร้อมด้วยค่าธรรมเนียมธุรกิจนายหน้าประกันภัยขยายตัวถึง 24.0% สอดคล้องกับปริมาณสินเชื่อปล่อยใหม่ที่ขยายตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทำให้ภาพรวมรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้น 13.4%
นอกจากนั้น ผลการขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่า จะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) ปรับตัวลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ 0.3% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย เป็นไปตามการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพและภาวะความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลง
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุนชะลอตัวลงจากปี 2564 ทั้งรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์หดตัว 19.2% จากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลง รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจจัดการกองทุนอ่อนตัวลง 33.2% จากยอดขายที่ลดลงของกองทุนที่ออกใหม่
ประกอบกับบริษัทไม่ได้รับรู้ค่าธรรมเนียมตามผลประกอบการเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องมาจากสภาวะตลาดทุนที่ไม่เอื้ออำนวย รวมถึงผลกำไรจากเงินลงทุนลดลงเมื่อเทียบกับผลกำไรในปี 2564 ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) สำหรับปี 2565 อยู่ที่ 17.2%
เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีจำนวน 219,004 ล้านบาท เติบโต 7.9% จากสิ้นปีก่อนหน้า จากการขยายตัวของสินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อเช่าซื้อรถมือสอง สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อ SMEs โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียนผ่านช่องทาง “สมหวัง เงินสั่งได้” สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 26.0% จากสิ้นปีก่อนหน้า ตามการเปิดเครือข่ายสาขาที่เพิ่มขึ้นในระหว่างปี
ส่วนของสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPLs) ลดลงจากสิ้นปี 2564 มาอยู่ที่ 2.1% ของสินเชื่อรวม เป็นไปตามนโยบายการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพและการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ตรงจุด ทั้งนี้ ระดับเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Loan Loss Coverage Ratio) ณ สิ้นปี 2565 อยู่ในระดับสูงถึง 258.8%
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 23.4% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 19.6% และ 3.7% ตามลำดับ