นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank เปิดเผยว่า ธนาคารและบริษัทย่อยได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL)ปี 2565 สูงที่ 51,919 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.73% จากปีก่อน เพื่อรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงจะกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเปราะบาง
นอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ให้มีความพร้อมในการดูแลช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร เพื่อให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจได้เต็มศักยภาพ ตอบรับกับโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น โดยอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ 31 ธ.ค.2565 อยู่ที่ระดับ 154.26% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ดังนั้นปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยจึงมีกำไรสุทธิ 35,770 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 2,283 ล้านบาท หรือ 6.00% โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่า จะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 98,504 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.72% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ทั้งนี้ เป็นผลจากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของธนาคารและทิศทางอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 11.40% หรือจำนวน 13,608 ล้านบาท และมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ(Net interest margin : NIM) สูงขึ้นอยู่ในระดับ 3.33% ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ดีขึ้นที่ระดับ 43.15%
“รายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อใหม่ในกลุ่มลูกค้าบุคคล และกลุ่มลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร”นางสาวขัตติยากล่าว
ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 3,700 ล้านบาท หรือ 8.42% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุน ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลงซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด
ส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 3,709 ล้านบาท หรือ 5.22 % หลัก ๆ จากค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณธุรกิจ และค่าใช้จ่ายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้า
นางสาวขัตติยากล่าวต่อว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2565 แม้ว่าจะสามารถประคองทิศทางการฟื้นตัวได้ดีกว่าปีก่อน แต่ภาคการส่งออกไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากสัญญาณชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2565 และมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566
นอกจากนั้น แม้จีนจะเริ่มทยอยเปิดประเทศ แต่การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนอาจหนุนตลาดต่างชาติเที่ยวไทยได้เพียงระดับหนึ่ง ทำให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยปี 2566 จะยังไม่กลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้
ดังนั้นเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังคงมีความเปราะบางและยังคงต้องติดตามแรงกดดันในส่วนของต้นทุนการผลิต ค่าจ้างแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ ปัญหาค่าครองชีพ และอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ยังขยับขึ้นต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
ขณะที่การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น KBank เมื่อวันที่ 20 ม.ค.65 ราคาหุ้นร่วงลงทันทีที่เปิดการซื้อขายที่ระดับ 148 บาทต่อหุ้น ลดลง 5.50 บาท หรือ 3.58% ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของวัน และเคลื่อนไหวในแดนลบตลอดทั้งวัน ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ระดับ 145 บาทต่อหุ้น ลดลง 8.50 บาท หรือ 5.54% มูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น 11,013.79 ล้านบาท โดยราคาหุ้นลดลงต่ำสุดที่ 144.50 บาทลดลงถึง 9.00 บาทหรือ 5.86%