"ช่วงแบล็คเอาท์” หรือ “Blackout Period” ของ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ได้แปลว่า “ไฟดับ” แน่ ๆ มันคือช่วงแห่งการปิดปากเงียบ งดแสดงความเห็น การงดให้ข่าวของเจ้าหน้าที่ ก่อนจะถึงกำหนดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (Federal Open Market Committee หรือชื่อย่อ FOMC) ในแต่ละครั้ง ซึ่งการประชุมครั้งแรกของปี 2566 นี้ตรงกับวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ.
และขณะนี้ เจ้าหน้าที่ของเฟด ได้เริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) แล้ว อันเป็นไปตามกฎระเบียบของเฟด
ทั้งนี้ กฎระเบียบของเฟดได้ระบุห้ามเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นต่อสาธารณะ หรือให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายการเงิน ในช่วง Blackout Period โดยปกติจะเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่สองก่อนที่การประชุมนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) จะเริ่มขึ้น และสิ้นสุดในวันพฤหัสบดีหลังการประชุม FOMC
สำหรับ ช่วง Blackout Period ของเฟดประจำปี 2566 มีกำหนดไว้แล้ว ดังนี้
แม้เจ้าหน้าที่จะงดแสดงความคิดเห็นไปแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ นักลงทุนก็ให้น้ำหนักเกือบ 100% ในการคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมที่กำลังจะมาถึง หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐต่างบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 99.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ให้น้ำหนักเพียง 76.7%
ตัวเลขดัชนีสำคัญยัน จุดพีคเงินเฟ้อสหรัฐผ่านพ้นแล้ว
ด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐก็เปิดเผยดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคประจำเดือนธ.ค.2565 โดยตัวเลข CPI ทุกรายการสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ทั้งนี้ ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 6.5% ในเดือนธ.ค. 65 เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และนับเป็นการปรับตัวขึ้นในอัตรา “น้อยที่สุด” เมื่อเทียบรายปี นับตั้งแต่เดือนต.ค.2564 เป็นต้นมา
และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวลง 0.1% ในเดือนธ.ค. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์เช่นกัน และเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดเมื่อเทียบรายเดือน นับตั้งแต่เดือนเม.ย.2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญมาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.7% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนธ.ค. ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์เช่นกัน
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนี PPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิตประจำเดือนธ.ค. 2566 พบว่า ตัวเลข PPI ดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และบ่งชี้ว่า “เงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว”
ทั้งนี้ ดัชนี PPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 6.2% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.8% หลังจากเพิ่มขึ้น 7.3% ในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา และหากเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไปลดลง 0.5% ในเดือนธ.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 0.1% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนพ.ย.2565
ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวจากระดับ 4.9% ในเดือนพ.ย. ขณะเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI พื้นฐานปรับตัวขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนธ.ค. หลังจากดีดตัวขึ้นที่ระดับ 0.3% ในเดือนพ.ย.2565