ปัญหามิจฉาชีพโจรกรรมทางการเงินผ่านระบบออนไลน์ ยังไม่เคยหายไป และผู้เสียหายที่ถูกดูดเงินออกจากบัญชี หรือถูกโอนเงินออกจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง จากกลอุบายหลากหลายรูปแบบของมิจฉาชีพ ทั้งหลอกให้กดลิงก์ปลอม หลอกให้กรอกข้อมูลในหน้าเว็บไซต์ปลอม หรือการฝังมัลแวร์ในโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายเพื่อควบคุมเครื่องได้จากระยะไกล เป็นต้น
แม้ขณะนี้พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ กฎหมายปราบโจรไซเบอร์ จะยังไม่ประกาศใช้ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้กำหนดมาตรการขั้นต่ำที่ทุกสถาบันการเงินจะต้องนำไปปฏิบัติภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อป้องกัน และบรรเทาความเสียหาย จากมิจฉาชีพออนไลน์
3 มาตรการ แก้ปัญหาถูกโจรดูดเงินออกจากบัญชี
1. มาตรการป้องกัน เพื่อปิดช่องทางที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงประชาชน
กำหนดให้ ธนาคาร และสถาบันการเงิน งดการส่งลิงก์ทุกประเภทผ่าน SMS ,อีเมล, และงดส่งลิงก์ขอข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน และเลขบัตรประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย
รวมทั้งให้ยกระดับความเข้มงวดในการยืนยันตัวตน โดยการนำระบบสแกนใบหน้า (biometrics) มาใช้กับการโอนเงินเกิน 50,000 บาท/ครั้ง หรือโอนเงินเกิน 200,000 บาท/วัน หรือปรับเปลี่ยนเพิ่มวงเงินตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไปบนโมบายแบงก์กิ้ง ซึ่งระบบดังกล่าวจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ก.ค. 2566
ธนาคาร และสถาบันการเงิน ต้องกำหนดเพดานวงเงินถอน/โอนสูงสุดต่อวันให้เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ใช้บริการแต่ละประเภท โดยการขอปรับเปลี่ยนวงเงินของลูกค้าต้องมีการยืนยันตัวตนอย่างเข้มงวด
2. มาตรการตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้องสงสัย
เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยจำกัดความเสียหายได้เร็วขึ้น และลดการใช้บัญชีม้า ธนาคาร และสถาบันการเงิน ต้องกำหนดเงื่อนไขการตรวจจับ และติดตามธุรกรรมเข้าข่ายผิดปกติ หรือกระทำความผิด
3. มาตรการตอบสนองและรับมือ เพื่อจัดการปัญหาให้ผู้เสียหายได้เร็วขึ้น
ธนาคาร และสถาบันการเงิน ต้องมีช่องทางติดต่อเร่งด่วน ตลอด 24 ชั่วโมง แยกจากช่องทางให้บริการปกติ เพื่อให้ผู้ใช้บริการแจ้งเหตุได้โดยทันเวลา และหากพบว่าความเสียหายเกิดจากข้อบกพร่องของสถาบันการเงินเอง สถาบันการเงินนั้นจะต้องให้การดูแลรับผิดชอบ
คลิกอ่าน : รวมเบอร์โทรธนาคาร ถูกโจรดูดเงิน โทรแจ้งสายด่วนได้ 24 ชั่วโมง
ประชาชนพร้อมใช้ ระบบสแกนใบหน้า (biometrics) หรือยัง
จากข้อมูลของ ธปท.พบว่า ผู้ที่ได้มีการเปิดบัญชีธนาคารภายใน 2 -3 ปีที่ผ่านมา หรือ ได้ยืนยันตัวตนเพื่อรับสวัสดิการของรัฐ สถาบันการเงินย่อมมีข้อมูลสแกนใบหน้า (biometrics) เก็บไว้เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 50% ของผู้ใช้บริการ ซึ่งผ็ใช้บริการกลุ่มนี้พร้อมมใช้งานระบบ สแกนใบหน้า (biometrics) ได้ทันที่
สำหรับผู้ที่ไม่ได้มีการเปิดบัญชีธนาคารภายใน 2 -3 ปีที่ผ่านมา หรือ ไม่เคยยืนยันตัวตนเพื่อรับสวัสดิการของรัฐ สามารถติดต่อธนาคารเจ้าของโมบายแบงก์กิ้ง เพื่อขอให้เก็บข้อมูลสแกนใบหน้า (biometrics) เอาไว้ก่อนเริ่มบังคับใช้มาตรการดังกล่าวในวันที่ 1 ก.ค. 2566
ทำไมจึงกำหนดวงเงิน 50,000 บาท
ธปท.ให้เหตุผลถึงการกำหนดใช้มาตรการยืนยันตัวตนด้วยการสแกนใบหน้า (biometrics) สำหรับวงเงิน 50,000 บาท/ครั้ง ว่ามิจฉาชีพส่วนใหญ่มักโอนในวงเงินมากกว่า 50,000 บาท/ครั้ง ซึ่งผู้ใช้บริการสถาบันการเงิน ที่มีการโอนเงินในจำนวนมากกว่า50,000 บาท/ครั้ง พบเพียง1% เท่านั้น
@thansettakij ธนาคารอัพเลเวล สแกนใบหน้าก่อนถอนเงิน
♬ เสียงต้นฉบับ - ฐานเศรษฐกิจ