มูดี้ส์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ของสหรัฐอเมริกาได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ ธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) ลงสู่ระดับ "C" ซึ่งเป็นระดับขยะ (junk) พร้อมถอนการจัดอันดับในอนาคตสำหรับธนาคารแห่งนี้ หลังธนาคาร SB ถูกสั่งปิดแบบกะทันหันเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ธนาคาร SB ซึ่งเป็นธนาคารในรัฐนิวยอร์ก ถูกหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบสหรัฐสั่งปิดเมื่อวันอาทิตย์ (12 มี.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ธนาคารล้มครั้งใหญ่สุดเป็นอันดับสามในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา โดยเกิดขึ้นเพียง 2 วันหลังจากเจ้าหน้าที่สหรัฐดำเนินการปิดธุรกิจธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) จนทำให้บริษัทและนักลงทุนไม่สามารถทำธุรกรรมใด ๆ กับเงินฝากที่มีมูลค่ามหาศาลได้
ทั้งนี้ ซิกเนเจอร์ แบงก์ หรือ SB เป็นหนึ่งในธนาคารรายใหญ่ที่ปล่อยเงินกู้ให้กับอุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซี โดยราคาหุ้นของซิกเนเจอร์ แบงก์ ร่วงลงเกือบ 40% ในปีนี้ หลังจากซิลเวอร์เกต แคปิตอล (Silvergate Capital) ซึ่งเป็นธนาคารคู่แข่ง ได้ประกาศยุติการดำเนินงานและขายสินทรัพย์ของธนาคารซิลเวอร์เกต แบงก์ (Silvergate Bank)เพื่อชำระหนี้
จากข้อมูลที่ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐระบุว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 ซิกเนเจอร์ แบงก์ (SB) มีสินทรัพย์โดยรวมมูลค่า 1.104 แสนล้านดอลลาร์ และมีเงินฝากทั้งสิ้น 88,600 ล้านดอลลาร์
วิกฤตธนาคารยังลามไม่หยุด
ขณะเดียวกัน มูดี้ส์ระบุว่า กำลังพิจารณาที่จะลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารในสหรัฐอีก 6 แห่งด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วย
ลูกค้า FTX ฟ้องซิลเวอร์เกต-ซิกเนเจอร์ ร่วมโกง
ความคืบหน้ากรณีการล่มสลายของธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank)และซิลเวอร์เกต แบงก์ (Silvergate Bank)ที่รายแรกได้ถูกสั่งปิด และรายหลังถูกประกาศเลิกกิจการ โดยทั้งคู่ต่างเป็นธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมคริปโต กำลังส่งผลกระทบต่อบรรดาลูกค้าของเอฟทีเอ็กซ์ (FTX) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซีที่ประสบกับภาวะล้มละลาย
ทั้งนี้ เนื่องจากหลัง FTX ล้มละลาย ลูกค้าของ FTX ได้ยื่นฟ้องร้องอย่างน้อย 4 คดีซึ่งกล่าวหาว่า ธนาคารซิลเวอร์เกต หรือธนาคารซิกเนเจอร์ฯ มีส่วนช่วยเหลือให้คนวงในของ FTX ฉ้อโกงเงินของลูกค้า โดยข้อกล่าวหามีเพียงแค่นั้น และการดำเนินคดี ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานวันนี้ (14 มี.ค.)ว่า ทั้งกระทรวงยุติธรรมสหรัฐและหน่วยงานกำกับดูแลด้านกฎหมายอื่น ๆ ของสหรัฐ ยังไม่ได้ตั้งข้อหาซิลเวอร์เกตหรือซิกเนเจอร์ว่ามีส่วนร่วมในการฉ้อโกงเงินของลูกค้า FTX หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนที่แล้วสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ซิลเวอร์เกตกำลังถูกอัยการสอบสวน
ด้านโฆษกของซิลเวอร์เกตปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อกล่าวหาดังกล่าวของลูกค้า FTX ขณะที่ซิกเนเจอร์ก็ยังไม่ได้ตอบกลับการสอบถามของทางรอยเตอร์เช่นกัน อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุใดทนายความของลูกค้า FTX จึงพุ่งเป้าไปที่ธนาคารทั้งสองแห่งดังกล่าว เนื่องจากหวังว่าสองธนาคารจะสามารถจ่ายเงินคืนใหัลูกค้าได้ ขณะที่ FTX นั้นอยู่ในสถานะล้มละลายตามมาตราที่ 11 ของกฎหมายล้มละลายของสหรัฐ (Chapter 11) และคนวงในของ FTX เองก็กำลังเผชิญกับการเรียกร้องค่าเสียหายในการฟ้องร้องดำเนินคดีโดยรัฐบาลสหรัฐด้วย