มีผลแล้ว! สมาชิกกบข.ส่งเงินเข้ากองทุนได้สูงสุด 30%

20 มี.ค. 2566 | 11:11 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2566 | 11:11 น.

ราชกิจจาฯ ประกาศพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 8) ให้สมาชิกกบข.ส่งเงินสะสมเข้ากองทุนได้สูงสุด 30% ของเงินเดือน พร้อมปรับเกณฑ์หากออกจากงานโอนเงินไปยังกองทุนอื่นได้ภายใน 7 วันทำการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2566 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 20 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 8)

โดยสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้แก่ บัญญัติให้สมาชิก กบข. สามารถส่งเงินสะสมเข้ากองทุนเกินกว่าอัตราที่กำหนดได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งรวมกันแล้วไม่เกิน 30% ของเงินเดือน

ส่วนกรณีที่สถานะสมาชิกสิ้นสุดลง และมีสิทธิได้รับเงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทน แต่ยังไม่ขอรับเงินคืน หรือทยอยรับเงินคืน กองทุนสามารถบริหารเงินที่ยังไม่รับคืนตามแผนการลงทุนเดิมต่อไปได้ และสมาชิกผู้นั้นมีสิทธิเลือกแผนการลงทุนได้

อย่างไรก็ดี ถ้าผู้นั้นขอโอนเงินไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกัน กรณีการออกจากงาน หรือชราภาพ กองทุนกบข.ต้องโอนเงินไปยังกองทุนดังกล่าวภายใน 7 วันทำการนับตั้งแต่ผู้นั้นแสดงความประสงค์

ส่วนหากกองทุนบริหารเงินของสมาชิกภาพสิ้นสุดลง และต่อมาถึงแต่ความตาย ถ้าผู้มีสิทธิรับมรดกยังไม่ยื่นคำขอรับเงิน กองทุนสามารถบริหารเงินนั้นต่อไปได้ตามแผนการลงทุนที่สมาชิกผู้นั้นเลือกไว้จนกว่าผู้มีสิทธิรับมรดกจะยื่นคำขอรับเงิน

ทั้งนี้ เงินลงกองทุน กบข. ที่อยู่ในบัญชีเงินสำรองให้ลงทุนได้ ได้แก่

  1. เงินฝากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ บัตรเงินฝาก หรือที่ธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจเป้นผู้ออก
  2. พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง หรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
  3. ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย
  4. ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณเป็นผู้ออก

โดยเงินที่อยู่ในบัญชีเงินกองกลาง อย่างน้อยต้องกำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ไม่ต่ำกว่า 60% ขณะเดียวกัน เงินของกองทุนที่อยู่ในบัญชีเงินรายบุคคล ให้กองทุนจัดให้มีแผนการลงทุนเพื่อให้สมาชิกเลือก โดยอาจกำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงแตกต่างกันได้ แต่อย่างน้อยต้องมีแผนการลงทุนในหลักทรัพย์มั่นคงสูงไม่ต่ำกว่า 60%

ทั้งนี้ แผนการลงทุนที่กำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเหมาะสมกับช่วงอายุสมาชิก แต่ถ้าสมาชิกไม่ได้ใช้สิทธิเลือกแผนการลงทุน ถือว่าสมาชิกยินยอมนำเงินดังกล่าวไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงตามช่วงอายุ 

โดยสามารถอ่านประกาศพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2566 ฉบับเต็มได้ที่นี่