บริษัทหลักทรัพย์(บล.) กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ถึงประเด็นการเทขาย AT1 ว่า ทำไมการเทขายตราสาร AT1 จึงสร้างความกังวลในกลุ่มธนาคาร โดยตามรายงานของ สำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวานนี้ Credit Suisse (CS) ระบุว่า ตราสารทางการเงินที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนสำรองชั้นที่ 1 หรือ Additional Tier 1 (AT1) มูลค่า 1.724 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จะถูกลดค่าลงเหลือศูนย์ตามคำสั่งของหน่วยงานกำกับดูแลของสวิส
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการควบรวมกิจการกับ UBS เพื่อยุติวิกฤตธนาคารล้ม ข่าวดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการถือครอง AT1 ที่ออกโดยสถาบันการเงินต่างๆ เนื่องจากเมื่อเกิดภาวะล้มละลาย ผู้ถือตราสาร AT1 มีโอกาสจะไม่ได้รับอะไรเลย
อย่างไรก็ตามทาง บล.กสิกร คาดว่าผลกระทบ AT1 ต่อกลุ่มธนาคารไทยมีจำกัด
เปิดสาเหตุผลกระทบต่อภาคธนาคารไทยจะมีจำกัด
นอกจากนี้ยังคาดว่าธนาคารไทยจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากการขาดทุนจากการลงทุนในตราสารทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ CS
ด้านนางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า จากกรณี Regional Bank ของสหรัฐอเมริกา ที่ประสบปัญหาต้องปิดกิจการ โดยทางการได้ออกมารับประกันการจ่ายคืนเงินฝากเต็มจำนวน และมีกลไกปล่อยสภาพคล่องให้ระบบสถาบันการเงิน
นอกจากนี้ยังมีกรณีธนาคาร Credit Suisse (CS) ที่เกิดปัญหาด้วยสาเหตุที่ต่างกัน โดย CS มีปัญหาสะสมมาก่อนหน้า และมีผลขาดทุนสูงต่อเนื่อง
รวมถึงเมื่อมีข่าวว่าผู้ถือหุ้นรายสำคัญมีข้อจำกัดในการเพิ่มทุนให้ CS จึงกระทบความเชื่อมั่นของตลาด จนธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และผู้กำกับดูแล ต้องให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง
ขณะที่ล่าสุดทางภาครัฐได้จัดการให้ธนาคาร UBS เข้าซื้อหุ้นของ CS เพื่อรวมกิจการและระงับไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามแล้ว
โดยทาง ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวใกล้ชิด และประเมินว่าผลกระทบจากเหตุการณ์ข้างต้นต่อระบบการเงินไทยมีจำกัด จากธุรกรรมของภาคธนาคารและกองทุนประเภทต่าง ๆ ที่อยู่ในระดับต่ำ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : หวั่นหุ้นกู้ AT1 ของเครดิตสวิส 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ จุดชนวนวิกฤตครั้งใหม่