ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รายงานสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ เดือนมกราคม 2566 พบว่า มียอดคงค้างทั้งสิ้น 8.53 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 3.27 แสนล้านบาทหรือ 65.51% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่มีการเก็บข้อมูล โดยพบว่า ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) เพิ่มขึ้นถึง 2.66 แสนล้านบาทหรือ 101.07% โดยเฉพาะที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกันเพิ่มขึ้นถึง 1.78 แสนล้านบาทหรือ 238.51%
นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย(CIMBT)เปิดเผยว่า แนวโน้มความต้องการสินเชื่อส่วนบุคคลไตรมาส 1 ปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว เห็นได้จากต้นทุนออนไลน์แพงขึ้น โดยเฉพาะช่องทางเฟซบุ๊กและกูเกิล สะท้อนว่า สถาบันการเงินแข่งขันทำตลาดออนไลน์ ยิ่งตอนนี้ใกล้สงกรานต์ ซึ่งสินเชื่อส่วนบุคคลจะพีคในวันหยุดยาวเดือนเมษายน-พฤษภาคมและใกล้เลือกตั้งด้วย
“ปกติสินเชื่อส่วนบุคคลไม่มีหลักประกันจะมีคนเข้ามายื่นคำขอเดือนมกราคมและแผ่วลงในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ปีนี้เดือนกุมภาพันธ์ความต้องการสินเชื่อยังไม่ปรับลดลง ซึ่งปีที่แล้วธปท.ส่งสัญญาณจะออกมาตรการกำกับสินเชื่อส่วนบุคคลราวครึ่งแรกของปีนี้ และแม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะยังไม่ครบทุกเช็กเตอร์ แต่ทุกค่ายหวังจะปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล เพราะทำให้รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น”
ดังนั้น ช่วงนี้ตลาดจึงเป็นของผู้บริโภค โดยเห็นการแข่งขันเสนออัตราดอกเบี้ยตํ่าลงค่อนข้างมาก เช่น 9.99%ต่อปี อายุสัญญากู้ 12 เดือน หรือดอกเบี้ยเงินกู้ที่ทยอยปรับลดลงมาอยู่ในระดับตํ่า 12-13% ขึ้นอยู่กับวงเงินและความสามารถในการชำระของลูกค้าด้วย
นางสาวสุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล (HENG)กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงเป็นความต้องการในตลาดทั้งประเภทที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันรวมถึงปีนี้อุตสาหกรรมจะมีช่องทางการดิจิทัล แพลตฟอร์ม เพื่อให้บริการสะดวกกับลูกค้ายิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการพิจารณาสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพและรัดกุม
ในส่วนของเฮงลีสซิ่งยังรัดกุมในการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน โดยทั้งปีนี้ ขนาดพอร์ตจะเติบโตไม่เกิน 5%จากปีก่อน แต่เน้นการให้สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนและคุณภาพหนี้อยู่ในระดับที่ดีมาก
“เราควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันอย่างรัดกุม โดยมุ่งเติบโตสินเชื่อที่มีหลักประกัน 20-30% คาดขนาดพอร์ตอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท ด้วยสัดส่วนสินเชื่อจำนำทะเบียนรถและและคงโครงสร้างพอร์ตที่มีหลักประกันไม่ตํ่ากว่า 90% และคุมเอ็นพีแอลที่2.9% โดยคุมความเสี่ยงในการตรวจสอบก่อนอนุมัติและร่วมกับทีมจัดเก็บ 45 เขตทั่วประเทศ”นางสาวสุธารทิพย์
นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจสินเชื่อบุคคล KTC กล่าวว่า ทิศทางขอสินเชื่อส่วนบุคคลหรือสินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” (KTC PROUD)เ ริ่มสูงขึ้น ซึ่งบริษัทยังคงเป้าเติบโตไว้ที่ 7% โดยมีสมาชิกใหม่เพิ่มเป็น 1.1 แสนรายจากสิ้นปีก่อนที่มีฐานสมาชิก 7 แสนราย ซึ่งเฉพาะสมาชิก7 แสนรายยอดการเบิกถอนเงินสดสูงขึ้นทั้งปีคาดว่า จะเติบโตประมาณ 20%
ส่วนการแข่งขันในตลาดเพิ่มขึ้นในกระบวนการดิจิทัลและแอปพลิเคชั่นจากมีผู้เล่นหน้าใหม่ ทั้งรายใหญ่ที่มีฐานลูกค้าให้ความสนใจมากขึ้น ซึ่งจะเน้นตอบรับความต้องการรวดเร็วและเข้าถึง สำหรับสัญญาณผ่อนชำระ เมื่อพิจารณาในแง่ของลูกค้าที่ค้างชำระไม่เกินจากตั้งเป้าไว้ ถือว่าทำได้ดี เห็นได้จากเอ็นพีแอลสินเชื่อส่วนบุคคลปิดปีที่แล้ว2.8%จากปี2564 อยู่ที่ประมาณ2.9% และปีนี้การชำระยังมีทิศทางค่อนข้างดี
“การควบคุมเอ็นพีแอล ถือว่าเราทำได้ดี เพราะถ้าเทียบอุตสาหกรรมเริ่มน่าเป็นห่วง โดยรวมทั้งธนาคารและนอนแบงก์กระโดดจาก 3.1% มาเป็น 5.3% ส่วนหนึ่งอาจมาจากลูกค้าหมดมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งอาจมีบางส่วนกลับมาชำระไม่ไหว ซึ่งปีนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว จึงยุติมาตรการช่วยเหลือไป หลังจากช่วยแปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาว แต่เรายังมีแคมเปญเคลียร์หนี้ให้ลูกค้า”
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,872 วันที่ 23 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2566