จับตาดอยช์แบงก์ หวั่นเป็นโดมิโนตัวใหม่ หลังหุ้นดิ่ง เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

24 มี.ค. 2566 | 23:49 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มี.ค. 2566 | 00:27 น.

ราคาหุ้นดอยช์แบงก์ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์กดิ่งลงอย่างต่อเนื่องเมื่อวันศุกร์ (24 มี.ค.) ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ของทางธนาคาร

 

ดอยช์แบงก์ (Deutsche Bank) ตกเป็นเป้าสนใจของนักลงทุนทั่วโลกสุดสัปดาห์นี้ หลังจากที่ ราคาหุ้น ของทางธนาคารได้ดิ่งลงทั้งในตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดย ณ เวลา 21.53 น.ตามเวลาไทยวานนี้ (24 มี.ค.) ราคาหุ้นดอยช์แบงก์ ร่วงลง 7.93% สู่ระดับ 8.88 ดอลลาร์ หลังจาก Credit Default Swap (CDS) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของดอยช์แบงก์พุ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี           

สื่อต่างประเทศระบุว่า CDS ของดอยช์แบงก์พุ่งขึ้นเหนือระดับ 2.00% เมื่อวันศุกร์ (24 มี.ค.) แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2562 จากระดับ 1.73% เมื่อวันพฤหัสฯ

ทั้งนี้ ดอยช์แบงก์เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเยอรมนี มีสินทรัพย์ทั้งหมดราว 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ และมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการราว 8.8 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ล่าสุดธนาคารเปิดเผยว่ามีกำไร 6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565

ดอยช์แบงก์เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเยอรมนี มีสินทรัพย์ทั้งหมดราว 1.4 ล้านล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ดอยช์แบงก์ยังถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่ม Systemically Important Financial Institution (SIFI) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ หรืออยู่ในกลุ่ม "Too big to fail" หมายถึงการเป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่เกินกว่าจะล้ม โดยภาครัฐจะออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อป้องกันมิให้วิกฤตธนาคารในกลุ่มดังกล่าวลุกลามไปทั่วระบบการเงิน

"ดอยช์แบงก์ได้ตกเป็นเป้าสนใจเช่นเดียวกับธนาคารเครดิตสวิส แม้ผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างมาแล้วหลายครั้ง และมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารเพื่อให้ธนาคารกลับมามีสถานะที่มั่นคง แต่ความพยายามเหล่านี้ก็ยังไม่บรรลุผลแต่อย่างใด" นายสจวร์ต โคล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์มหภาคของ Equiti Capital กล่าว

นอกจากนี้ นักลงทุนยังแห่เทขายตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Additional Tier 1) หรือ AT1 ของดอยช์แบงก์เช่นกัน หลังจากที่เมื่อเร็วๆนี้ รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ประกาศตัดมูลค่า AT1 ของธนาคารเครดิตสวิส ลงเหลือศูนย์ ซึ่งสร้างความไม่มั่นใจต่อนักลงทุนในการถือครอง AT1 ของดอยช์แบงก์ หากธนาคารเกิดการล้มละลาย

นายกฯ เยอรมนีรีบออกโรงสร้างความเชื่อมั่น

นายโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ออกโรงป้องกันภาวะไฟลามทุ่งในแวดวงธนาคารอย่างรวดเร็ว โดยเขากล่าวยืนยันต่อสื่อมวลชนเมื่อวันศุกร์ (24 มี.ค.) ว่า ดอยช์แบงก์ได้ผ่านการปรับโครงสร้างแล้ว และมีการปรับรูปแบบธุรกิจให้ทันสมัย

นอกจากนี้ ดอยช์แบงก์ยังเป็นธนาคารที่สามารถทำกำไรอย่างมาก นักลงทุนจึงไม่ควรคาดเดาในทางลบเกี่ยวกับอนาคตของธนาคารแห่งนี้

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์หลายรายก็ได้ออกมาแสดงความเชื่อมั่น โดยระบุว่า ดอยช์แบงก์จะไม่กลายเป็นโดมิโนตัวต่อไปจากเครดิตสวิส เนื่องจากสถานะของธนาคารดอยช์แบงก์ ยังมีกำไรถึง 5 พันล้านยูโร (5.4 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 159% เมื่อเทียบกับปี 2564 และทางธนาคารยังสามารถทำกำไรถึง 10 ไตรมาสติดต่อกัน