กองทุนไทย ไม่สะเทือน หุ้นกู้”เครดิตสวิส”เหลือศูนย์

28 มี.ค. 2566 | 05:22 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มี.ค. 2566 | 06:58 น.

หลังธนาคาร Credit Suisse ประกาศลดมูลค่า “หุ้นกู้ CoCo” ลงราว 1.73 หมื่นล้านดอลลาร์ จนเหลือ ‘ศูนย์’ ล่าสุด บลจ.กรุงศรีฯ ยันไม่กระทบกองทุน FIF ของไทย

หลังการล่มสลายของธนาคาร Credit Suisse ธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ จนนำไปสู่การขายกิจการให้ UBS Group AG ธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของประเทศ สิ่งที่ตามมา คือ Credit Suisse ประกาศลดมูลค่าหุ้นกู้ชนิดพิเศษ ที่เรียกกันว่า “หุ้นกู้ CoCo” ลงราว 1.73 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5.94 แสนล้านบาท  (34.39 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ 27 มี.ค.66) จนเหลือ ‘ศูนย์’ หรือ 'ไร้มูลค่า' สิ่งนี้เปรียบเสมือนคลื่นสึนามิลูกที่ 2 ที่ถาโถมใส่บรรดาผู้ถือหุ้นกู้ของ Credit Suisse ที่อยู่ในสถานะเจ้าหนี้ โดยเฉพาะ ผู้ถือ "หุ้นกู้ Coco" ที่ถูกพูดถึงในอย่างมากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

"หุ้นกู้ Coco" เป็น ‘หุ้นกู้แปลงสภาพโดยมีเงื่อนไข’ (Contingent Convertible Bonds) ที่จัดอยู่ในประเภท Basel lll Additional Tier 1 หรือ AT1  แปลว่า เมื่อใดก็ตามที่บริษัทขาดสภาพคล่อง เงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด หุ้นกู้ดังกล่าวจะกลายสภาพไปเป็นหุ้นสามัญลดมูลค่า หรือตัดเป็นหนี้สูญได้โดยอัตโนมัติ เจ้าหนี้จะแปรสภาพเป็นเจ้าของบริษัท และไม่สามารถเรียกร้องขอคืนหนี้จากบริษัทได้อีก ถือเป็นเครื่องมือชั้นดี ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงให้ธนาคารผู้ออกหุ้นกู้ได้

แม้หุ้นกู้ AT1 จะมีความเสี่ยงต่อนักลงทุน แต่หุ้นกู้ชนิดนี้จ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูงเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาซื้อ ในอดีตอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ชนิดนี้เคยสูงถึง 6%-7% ต่อปีในขณะที่หุ้นกู้ทั่วไปอยู่เพียง 1% ต่อปีเท่านั้น

จากการล่มสลายของธนาคาร Credit Suisse สิ่งที่น่ากังวล คือ ผู้ที่ลงทุนใน “กองทุน FIF หรือ กองทุนรวมที่ลงทุนต่างประเทศ” ที่ถือหุ้นกู้ของ Credit Suisses อาจจะไม่ได้รับเงินคืน กรณีเป็นหุ้นกู้ประเภท AT1

 

จากข้อมูลของ Bloomberg ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 กองทุนไทยที่ลงทุนหุ้นกู้ธนาคาร Credit Suisse มีประมาณ 20 กองทุน ซึ่งเป็นการลงทุนผ่านกองทุนหลักในต่างประเทศอีกที  ไม่ใช่การเข้าไปซื้อหุ้นกู้กับธนาคารโดยตรง ด้วยสัดส่วนการลงทุนไม่เกิน 5% ของขนาดกองทุน เมื่อลองคำนวณมูลค่าลงทุนบางกอง มีมูลค่าเขาไปลงทุนสูงถึง  351 ล้านดอลลาร์ (ดูตามตารางด้านล่าง)

นายวิน พรหมแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า ข้อมูลการลงทุนหุ้นกู้ Credit Suisse ของบลจ.ไทย ที่มีการเผยแพร่ไปนั้น ไม่ใช่หุ้นกู้ประเภท AT1 หรือ หุ้นกู้ CoCo ทั้งหมด และ บางกองถึงจะมีการเข้าลงทุนในหุ้นกู้ชนิดนี้ สัดส่วนก็ถือว่าน้อยมาก 

ตัวอย่างเช่น บลจ.กรุงศรีอยุธยา มีกองทุนที่ลงทุนหุ้นกู้ Credit Suisse ทั้งหมด 5 กองทุน ซึ่งมี 4 กองทุนเท่านั้นที่ลงทุนในหุ้นกู้ AT1 ตามตารางด้านล่างนี้ 

กองทุนไทย ไม่สะเทือน หุ้นกู้”เครดิตสวิส”เหลือศูนย์

ขณะที่การลงทุนในหุ้นกู้รูปแบบอื่นๆของ Credit Suisses  ที่ไม่ใช่ AT1 ก็ไม่มีปัญหา เพราะเมื่อคิดผลตอบแทนการลงทุนสุทธิแล้ว ผลตอบแทนสำหรับการลงทุน ตั้งแต่ต้นปีจนถึง 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ก็ยังเป็นบวก คือมี Total Return 3.25% Income 1.9% 

ถือว่ากองทุนของไทย "ได้รับผลกระทบน้อยมาก" และหลังจากธนาคารยูบีเอส (UBS) เข้าเทคโอเวอร์กิจการต่อจาก  Credit Suisses หุ้นกู้เหล่านี้ก็ถูกโอนไปอยู่กับธนาคารยูบีเอส (UBS) ที่มีความมั่นคงสูง ช่วยสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนว่าจะไ้ด้รับเงินจากการลงทุนหุ้นกู้คืน

นอกจากนี้ จากที่ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางของยุโรป (ECB) และธนาคารอังกฤษ (BoE) เองก็เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยระบุว่า ผลกระทบต่อหุ้นกู้ของ Credit Suisse มีค่อนข้างจำกัด เพราะก่อนจะมาตัดหนี้กับผู้ถือหุ้นกู้ AT1 ผู้ถือหุ้นปกติ (หุ้นสามัญ) จะต้องรับผลกระทบเต็มจำนวนก่อน

กองทุนไทย ไม่สะเทือน หุ้นกู้”เครดิตสวิส”เหลือศูนย์


ที่มา : Bloomberg, บลจ.กรุงศรีอยุธยา