ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ ช่วงไตรมาสแรกปี 2566 (ณ 27 มีนาคม 2566) ภาคเอกชนมีการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้จำนวน 463,270 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ระยะยาว 212,961 ล้านบาทและหุ้นกู้ระยะสั้น 250,310 ล้านบาท
ขณะที่นายธนิก ธราวิศิษฏ์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking and Capital Markets ธนาคาร ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจกลับมาเริ่มลงทุนขยายกิจการ แต่ต้นทุนทางการเงินที่ปรับตัวสูงขึ้นตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่เร่งระดมทุน ด้วยการออกและเสนอขายหุ้นกู้แทน
ทั้งนี้สมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) คาดว่า ภาพรวมปีนี้ภาคเอกชนจะมีการระดมทุน ด้วยการออกหุ้นกู้มากกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ซึ่งเอกชนออกหุ้นกู้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% และจะมีหุ้นกู้ครบกำหนดชำระปีนี้ราว 7 แสนกว่าล้านบาท
ดังนั้นวัตถุประสงค์การออกหุ้นกู้ส่วนหนึ่งก็เพื่อชำระหนี้ และอีกส่วนเพื่อลงทุนขยายธุรกิจ ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยจะเป็นตัวแปรสำคัญในการระดมทุน โดยเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและไทยขยายตัวดีกว่าฝั่งยุโรปและสหรัฐ อีกทั้งภาพรวมดอกเบี้ยเมืองไทยยังถูกกว่าต่างประเทศ และปีนี้ทั้งนักลงทุนสถาบันและรายย่อยมีการตอบรับหรือความต้องการซื้อที่ดีส่วนหนึ่งจากดอกเบี้ยขาขึ้น
สำหรับภาคธุรกิจที่จะทยอยออกหุ้นกู้ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจค้าปลีก พลังงานและพลังงานทางเลือก แต่กลุ่มอสังหาฯ ในแง่เม็ดเงินปีนี้อาจจะไม่หนาตาเหมือนกลุ่มรีเทล นอกจากนี้จะเห็นการระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้สำหรับโครงการด้านความยั่งยืน พัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคม หรือ ESG Bonds ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น สะท้อนการขยายการลงทุนในหุ้นกู้กับกลุ่มนักลงทุนรายย่อยได้ง่ายขึ้นด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นที่จำนวนไม่สูงนัก
นายธนิกกล่าวว่า หากย้อนหลังไป 7 ปี ภาพรวมการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนเติบโตเฉลี่ย 7%ต่อปี ซึ่งปีที่เกิดวิกฤติโควิด-19 ภาคเอกชนชะลอการออกหุ้นกู้ลงราว 30% แต่ด้วยความแข็งแกร่งของตลาดหุ้นกู้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เอกชนกลับมาออกหุ้นกู้เทียบเท่าปีก่อนโควิด-19 จำนวน 1.03 ล้านล้านบาท
หากพิจารณาไส้ในของหุ้นกู้ที่ออกมาเมื่อ 7 ปีก่อนพบว่า นักลงทุนทั่วไปหรือรายย่อยเติบโตในสัดส่วน 27% หรือประมาณ 4 เท่าของตลาดแต่นักลงทุนรายย่อยมีการลงทุน 1.7 แสนรายราว 75%ของนักลงทุนยังถือหุ้นกู้เป็นใบหุ้นกู้ และจำนวนบัญชีหลักทรัพย์มีการเติบโตต่อเนื่องเกือบ 2.2 ล้านล้านบัญชี แต่นักลงทุนเลือกถือเป็นใบหุ้นกู้ ซึ่งสวนทางกับพฤติกรรมทางการเงินที่มีการเข้าถึงบริการผ่านช่องทางดิจิทัลแพลตฟอร์มมากขึ้น
เห็นได้จาก 5 ปีที่ผ่านมา(2561-2565) จำนวนผู้ใช้โมบายแบงก์กิ้งเพิ่มขึ้นจาก 46 ล้านบัญชีเป็น 96ล้านบัญชี บวกกับผู้ใช้โมบายแบงก์กิ้งที่เติบโตขึ้นสวนทางจำนวนสาขาธนาคารที่ปรับลดลงจาก 6,945 สาขาเหลือเป็น 5,727 สาขา ซึ่งข้อมูลดังกล่าว จึงเป็นโอกาสในการพัฒนาบริการบัญชีหุ้นกู้ EASY-D บริการรับฝากหุ้นกู้แบบไร้ใบ เพื่อตอบโจทย์นักลงทุนรายย่อย บน SCB Easy แอป
ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถเปิดบัญชีในวันที่ 5 เมษายน 2566 โดยทำธุรกรรมที่เป็นดิจิทัลแบบ End-to-end ตั้งแต่การจองซื้อหุ้นกู้และฝากหุ้นกู้ในบัญชีหุ้นกู้ EASY-D ไม่มีภาระค่าธรรมเนียม และไม่ต้องเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์ กรณีหุ้นกู้มีอายุการลงทุนนาน 5 ปีก็ไม่ต้องกังวลเรื่องวันครบอายุ เพราะบัญชีหุ้นกู้ EASY-D จะ Link กับบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์อยู่แล้ว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,874 วันที่ 30 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2566