ค่าธรรมเนียมถอนเงินไม่ใช้บัตร : ดันรายได้ค่าธรรมเนียมแบงก์ทะลุ 1.8 แสนล้าน

02 เม.ย. 2566 | 07:39 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2566 | 09:45 น.

ธนาคารเก็บ "ค่าธรรมเนียมถอนเงินไม่ใช้บัตร" 10 บาทต่อครั้ง คาดผลักดันรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการแบงก์ทะลุ 1.8 แสนล้าน ทั้งค่าธรรมเนียมและบริการ จากรายได้บัตร ATM บัตรเดบิต บริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์

HIGHLIGHT 

  • ธนาคารเตรียมเก็บ "ค่าธรรมเนียมถอนเงินไม่ใช้บัตร" 10 บาทต่อครั้ง จากเดิมไม่คิดค่าธรรมเนียมการใช้บริการ เพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัล ลดการใช้เงินสด
  • ค่าธรรมเนียมถอนเงินไม่ใช้บัตร จะทำให้ผู้ใช้บริการมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่จะทำให้ธนาคารมีรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีรายได้รวม 184,631 ล้านบาท กำไร 28,629 ล้านบาท
  • การทำธุรกรมชำระเงินของไทยในปัจจุบัน 80% หรือเกือบ 25 ล้านล้านบาทเป็นการโอนเงินรายย่อยผ่านอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ การเก็บค่าธรรมเนียมถอนเงินไม่ใช้บัตร ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะทำให้คนลดการใช้เงินสด หันไปโอนเงินผ่านอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น

 

กรณีธนาคารกรุงไทย(KTB) และธนาคารพาณิชย์อื่นๆเตรียมเก็บ "ค่าธรรมเนียมการถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตร" (Cardless ATM Withdrawal) ครั้งแรกฟรี ครั้งต่อไป ครั้งละ 10 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 จากเดิมไม่คิดค่าธรรมเนียมการใช้บริการ เพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัล ลดการใช้เงินสด หรือ "สังคมไร้เงินสด" จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ประกาศธนาคารกรุงไทยเรื่อง การเก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตร

ล่าสุด ธนาคารกรุงไทย ได้ออกประกาศว่า ธนาคารกรุงไทย จะขอเลื่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตร ออกไปแบบไม่มีกำหนด 

"หลังจากธนาคารได้หารือแล้ว เห็นว่าเรื่องดังกล่าวอาจเกิดผลกระทบกับประชาชน จึงขอยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตรออกไปก่อน" แหล่งข่าวระบุ 

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า หลังจากที่ธนาคารประกาศแจ้งให้ลูกค้ารับทราบผ่านช่องทางของธนาคาร ปรากฎว่า ได้รับเสียงสะท้อนจากลูกค้าจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งธนาคารยินดีน้อมรับฟังทุกความคิดเห็น เพื่อนำมาปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ โดยตระหนักถึงความเดือดร้อนของลูกค้าที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้เงินสดในชีวิตประจำวัน ดังนั้นจึงยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวออกไปก่อน

ฐานเศรษฐกิจตรวจสอบข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ไทยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและบริการจากประชาชนใน 14 รายการหลักๆ ดังนี้

รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการของธนาคารพาณิชย์

  1. การรับรอง รับอาวัล และค้ำประกัน
  2. บัตรเครดิต
  3. บริการบัตร ATM  บัตรเดบิต และบริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ
  4. บริการโอนเงินและเรียกเก็บเงิน
  5. บริการที่ปรึกษา
  6. ค่าธรรมเนียมจัดการ
  7. การจัดการออก การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และการค้าตราสารแห่งหนี้
  8. การดูแลและเก็บรักษาหลักทรัพย์ของลูกค้า
  9. ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับเช็ค
  10. ค่าธรรมเนียมการออกเล็ตเตอร์ออฟเครคิต
  11. ค่านายหน้า
  12. รายได้ค่าธรรมเนียมในการติดตามทวงถามหนี้
  13. รายได้ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระค่าสินค้าและบริการ
  14. ค่าธรรมเนียมและบริการอื่น ๆ

จากการตรวจสอบข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในประเทศไทย ในปี 2563 อยู่ที่ 181,478 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 182,518 ในปี 2564 และ 184,631 ล้านบาท ในปี 2565 ตามลำดับ

ส่วนค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและบริการของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในประเทศไทย ปี 2563 อยู่ที่ 49,959 ล้านบาท ปี 2564 อยู่ที่ 48,860 ล้านบาท ปี 2565 จำนวน 56,382 ล้านบาท

เมื่อนำรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในประเทศไทยมาลบด้วยค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและบริการพบว่า ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีกำไรจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ ในปี 2563 จำนวน 20,202 ล้านบาท ปี 2564 กำไร 20,964 ล้านบาท และปี 2565 กำไร 28,629 ล้านบาท

เมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ ในส่วนของรายได้จากบริการบัตร ATM บัตรเดบิต และบริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ พบว่า ในปี 2563 อยู่ที่ 29,757 ล้านบาท ปี 2564 ลดลงมาเหลือ 27,896 ล้านบาท และปี 2565 จำนวน 27,753 ล้านบาท

รายได้ธนาคารจากค่าธรรมเนียม ATM

สาเหตุสำคัญที่ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ ในส่วนของรายได้จากบริการบัตร ATM บัตรเดบิต และบริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆของธนาคารลดลง มาจากการที่ธนาคารได้พัฒนาระบบโอนเงิน ชำระเงินผ่านระบบ mobile banking และระบบการถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตรผ่านตู้ ATM โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม

ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บัตร ATM และบัตรเดบิตจากที่เคยมีผู้ใช้บัตร ATM และบัตรเดบิต รวมกันสูงสุด 76,514,751 ใบ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ลดลงมาเหลือ 70,854,183 ใบ ในเดือนมกราคม 2566 โดยประชาชนจำนวนมากหันมาเบิกถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตรผ่านตู้ ATM เพราะไม่มีค่าธรรมเนียมเหมือนการใช้บัตร ATM หรือบัตรเดบิต 

ค่าธรรมเนียมและบริการจากบัตร ATM บัตรเดบิต

  • ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 100 บาท
  • ค่าธรรมเนียมรายปี 150-300 บาท
  • ค่าธรรมเนียมการถอนเงินสด
  • ถอนเงินที่เครื่อง ATM/CDM ในเขตจังหวัด ไม่คิดค่าบริการ(กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ จัดเป็นจังหวัดเดียวกัน) 
  • ถอนเงินที่เครื่อง ATM/CDM ข้ามเขต จังหวัด 10 บาท/ครั้ง
  • ถอนเงินที่เครื่อง ATM/CDM ธนาคารอื่น ในเขตจังหวัด ฟรี 4 ครั้ง/เดือน ครั้งที่ 5 ขึ้นไป 10 บาท/ครั้ง
  • ถอนเงินที่เครื่อง ATM/CDM ธนาคารอื่น ข้ามเขตจังหวัด 20 บาท/ครั้ง ครั้งที่ 5 ขึ้นไป 30 บาท/ครั้ง

ขณะที่ข้อมูลปริมาณการชำระเงินผ่านระบบการชำระเงินและช่องทางต่าง ๆ ของไทยในปี 2565 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 30,854,430 ล้านบาท โดย 80% เป็นการทำธุรกรรมผ่านการโอนเงินรายย่อยผ่านอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมกัน 24,931,309 บาท หากมีการค่าธรรมเนียมถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตรผ่านตู้ ATM จะทำให้ประชาชนหันมาโอนเงินผ่านอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น

จี้แบงก์ชาติออกกฎคุม"ค่าธรรมเนียมถอนเงินสดไม่ใช้บัตร"

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจ ว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่ธนาคารจะะจัดเก็บ "ค่าธรรมเนียมถอนเงินสดไม่ใช้บัตร" และไม่ควรทำ เนื่องจากต้นทุนของทางธนาคารในการถอนเงินผ่านแอปพลิเคชันโดยไม่ใช้บัตรน่าจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่ารูปแบบบัตร ATM เพราะบัตร ATM มีต้นทุนที่เพิ่มจากตัวบัตร รวมทั้งกรณีสูญหายยังเป็นต้นทุนของทางธนาคาร และประชาชนผู้ใช้บริการ

นอกจากนี้ธนาคารควรคำนึงถึง ความสะดวก และความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ เป็นหลัก เนื่องจากการถอนเงินโดยไม่ใช้บัตรมีความปลอดภัย และสะดวกกว่าการพกพาบัตร ATM การเก็บค่าธรรมเนียมถอนเงินสดไม่ใช้บัตรเป็นการผลักดันให้ลดการใช้เงินสดคงเป็นเรื่องที่ไม่ตรงจุด และไม่ตอบโจทย์ ซึ่งหากมองในมุมตรงข้ามประชาชนอาจถอนเงินน้อยครั้งลง แต่ถอนวงเงินมากขึ้นเพื่อถือเงินสดไว้ใช้แทน เพราะกลัวการเสียค่าธรรมเนียม

“ธนาคารแห่งประเทศไทย จะต้องออกมาให้ความชัดเจน ในการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว เนื่องจากค่าธรรมเนียมอัตราถอนเงินครั้งละ 10 บาท ถือว่ามีผลกระทบต่อประชาชน เพราะหากถอนเงินไม่ใช้บัตร 10 ครั้ง เท่ากับป็นต้นทุนถึง 100 บาท” นายพรายพล กล่าว

สรุป : หากมีการเก็บค่าธรรมเนียมถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตรผ่านตู้ ATM ครั้งละ 10 บาท โดยยกเว้นการเบิกถอนเงินสดครั้งแรก จะเพิ่มภาระให้กับผู้ใช้บริการตามมา แต่จะทำให้ธนาคารมีรายได้จากค่าธรรมเนียมและค่าบริการทั้งระบบมากกว่า 1.8 แสนล้านบาท ทั้งในส่วนของค่าธรรมเนียมถอนเงินไม่ใช้บัตร และค่าธรรมเนียมบัตร ATM บัตรเดบิต ในขณะที่การทำธุรกรรมโอนเงินรายย่อยข้ามธนาคารผ่านอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนก็น่าจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย