แบงก์เตือนผู้กู้ รับมือต้นทุนดอกเบี้ยขยับ

02 เม.ย. 2566 | 13:31 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2566 | 13:31 น.

จับตากนง.ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% เดือนพ.ค. ส่งผลดอกเบี้ยนโยบายไทยขึ้นสู่ระดับ 1.75% กูรูชี้ยังไม่พอรับมือเงินเฟ้อที่ยังค้างสูง 2.4% แถมแบงก์ในระบบจ่อขยับดอกเบี้ยตาม เตือนประชาชนรับมือ เดือนมิ.ย.ต้นทุนดอกเบี้ยขึ้นแน่

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปีสู่ระดับ 1.75% ตามคาด ซึ่งเป็นการขึ้นครั้งที่ 5 นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 แต่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ทำให้กนง.ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงเล็กน้อยอยู่ที่ 3.6% ในปี 2566 ขณะที่ภาคส่งออกคาดว่า จะหดตัวลง 0.7%

นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ไตรมาส 1 ปีนี้ น่าจะเป็นบวกไม่ต่ำกว่า 3-3.3% จากการท่องเที่ยวเป็นแรงหนุน แต่จะมองเฉพาะตัวเลขจีดีพีคงไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจไทยเวลานี้เติบโตจากเซ็กเตอร์เดียวคือ ภาคท่องเที่ยว ขณะที่เงินเฟ้อ แม้จะปรับลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงหนี้ครัวเรือนและดอกเบี้ยที่ขยับขึ้น

“เศรษฐกิจไทยเรา ผลักดันด้วยการท่องเที่ยวเพียงตัวเดียวซึ่งเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไม่ได้เติบโตมาจากหลายภาคส่วนพร้อมกัน ซึ่งตัวเลขส่งออกไทยและหลายประเทศไม่ดี แต่ที่กนง.คาดการณ์ว่าครึ่งปีหลังจะดีนั้น อยู่บนสมมติฐานเศรษฐกิจสหรัฐไตรมาส 4 ต้องไม่ถดถอย” นายเชาว์ กล่าว

แบงก์เตือนผู้กู้ รับมือต้นทุนดอกเบี้ยขยับ

ทั้งนี้การปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของกนง.นั้น จะเห็นว่า ตัวเลขเงินเฟ้อกับเศรษฐกิจปีหน้า น่าจะมีความสำคัญ เพราะจีดีพีเติบโต 3.8% แต่อัตราเงินเฟ้อยังค้างอยู่ที่ 2.4% จากปีนี้ 2.9% ซึ่งคาดว่า ดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมไม่ควรต่ำกว่า 2% จึงมองว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในเดือนพฤษภาคม เพื่อให้ดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ระดับ 2.0% ขณะที่ยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจหลักของโลกและสถาบันการเงินระดับโลก

นายเชาว์กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มธนาคารในระบบคงจะทยอยขึ้นดอกเบี้ยอย่างระมัดระวัง โดยดูความสามารถในการปล่อยสินเชื่อและดูกำลังของลูกค้าด้วยการปรับขึ้นในอัตราต่ำกว่ากนง. ซึ่งช่วงเวลากว่า 1 ปีที่ทยอยทำมาเชื่อว่า ประชาชนจะตั้งตัวรับรู้ได้ ฉะนั้นเดือนมิถุนายนนี้ ภาระต้นทุนดอกเบี้ยของผู้กู้น่าจะขยับ แต่รวมกันไม่น่าจะสูงมาก

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist หรือศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า ไตรมาส1 ปีนี้มองว่า เศรษฐกิจไทยเติบโต 2.4% แรงหนุนจากท่องเที่ยวเร่งตัวขึ้นเป็นหลัก บวกการบริโภคในประเทศขยายตัวต่อเนื่องกัน ซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปีนี้ น่าจะต่ำที่สุดและส่งออกยังติดลบ แต่อีก 3ไตรมาสที่เหลือมีแนวโน้มจีดีพีจะบวกเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 2-3 น่าจะขยับบวกได้ 3% และไตรมาส4 ประมาณ 5%

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist หรือศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

ส่วนกรุงไทยยังคงตัวเลขจีดีพี 3.4%เท่าเดิม ด้วยปัจจัยบวกจากท่องเที่ยว ส่วนปัจจัยลบส่งออกเปลี่ยนไปจาก 3 เดือนก่อน

ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายมองว่า กนง.มีความจำเป็นต้องทยอยปรับดอกเบี้ย เพื่อเป็นกระสุนสำหรับอนาคต ซึ่งเป็นแนวทางของทุกธนาคารกลางทั่วโลก โดยดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับขึ้นสู่ระดับ 2.0% หรืออาจจะสูงกว่า 2.0% เพราะถ้าต่ำกว่า 1% อาจจะไม่มีรูมให้กลับมาลดดอกเบี้ยได้ หากอนาคตเศรษฐกิจชะลอ

อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญคือ การกลับมาของเศรษฐกิจจีนหลังเปิดประเทศ ซึ่งยังห่วงซัพพลายเชน เพราะการส่งออกไทยพึ่งตลาดจีนค่อนข้างมาก ซึ่งไตรมาส 1 คงจะเห็นการออกไทยติดลบค่อนข้างมาก แต่คาดว่า ไตรมาส 2 จะเห็นสัญญาที่ดีขึ้น จึงเป็นความเสี่ยงว่า จะเป็นเช่นนั้นได้หรือไม่ เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมา สัญญาณเศรษฐกิจจีนที่ออกมา พบว่า การฟื้นตัวไม่เร็วอย่างที่หวัง จึงกังวลว่า ส่งออกไทยจะตีตื้นกลับมาได้เร็วแค่ไหน

ส่วนมุมมองการดำเนินนโยบายของธปท.นั้น ธปท.ต้องการให้ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น แม้ดอกเบี้ยจะปรับขึ้นมาแล้วแต่ยังอยู่ในระดับต่ำเป็นพิเศษ อัตราเงินเฟ้อก็ยังสูง เมื่อภาวะการณ์เป็นเช่นนี้ ในมิติธนาคารในระบบสามารถปรับขึ้นได้ตามกนง.ได้อีก

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,875 วันที่ 2 - 5 เมษายน พ.ศ. 2566