นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด เศรษฐกิจโลกถดถอย ปัญหาทางตลาดเงิน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์นั้น เริ่มเห็นธุรกิจไทยออกไปลงทุนนอกประเทศ และกว้านซื้อธุรกิจในต่างแดนมากขึ้น โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ซึ่งตรงกันข้ามกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ขณะนั้นชาติตะวันตกจะมาไล่ซื้อกิจการจากเอเชีย
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการไทยเข้าซื้อกิจการต่างประเทศ ทั้งกลุ่มธุรกิจอาหาร พลังงาน และค้าปลีก เช่น บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อกิจการโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหาร และขยายกิจการในยุโรป
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มธุรกิจพลังงาน ที่บริษัทไทยสนใจเข้าซื้อกิจการต่างประเทศ อาทิ บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
และกลุ่มธุรกิจค้าปลีก อาทิ กลุ่มเซ็นทรัล หรือกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ก็เข้าไปลงทุนในหลายประเทศ ซึ่ง EXIM BANK พร้อมจะเติมเงินให้บริษัทไทยเหล่านี้ออกไปลงทุนต่างประเทศ
นายรักษ์ กล่าวว่า EXIM BANK มีฐานะการเงินที่เข้มแข็ง ซึ่งหลังจากคลังเพิ่มทุนให้ครบก็มีทุนอยู่ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท สามารถเป็นผู้นำ โครงการเงินกู้ร่วมได้ เช่น การเข้าทำกิจการในยุโรปมีความต้องเงินลงทุน 200-300 ล้านยูโร ซึ่ง EXIM BANK ก็พร้อมจะเข้าไปเป็นผู้นำปล่อยกู้ 25-30% ของวงเงินรวม
โดยที่ผ่านมา ได้ปล่อยเชื่อให้ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนโครงการครอสโร้ดส์ รีสอร์ต แหล่งท่องเที่ยวครบวงจรในมัลดีฟส์
“ภาพรวมภาคการส่งออกไทยปีนี้มีแนวโน้มติดลบสูง แต่จะไม่กระทบต่อ EXIM BANK เนื่องจากธนาคารมีสัดส่วนปล่อยกู้เพื่อการลงทุนต่างประเทศมากถึง 70% ขณะที่อีก 30% เป็นสินเชื่อเพื่อการค้า โดยการลงทุนในต่างแดนก็ยังมีการขยายตัวดี จึงมั่นใจว่าปีนี้จะปล่อยกู้ใหม่ได้ 2 หมื่นล้านบาท และมีสินเชื่อคงค้าง 1.75 แสนล้านบาท”นายรักษ์กล่าว
ทั้งนี้ ช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ธนาคารเปิดตัวสินเชื่อใหม่ 2 สเต็ป วงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับปล่อยกู้ให้กับผู้ส่งออกรายใหญ่ หรือเจ้าสัว นำไปปล่อยกู้ต่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กที่เป็นซัพพลายเชนของตัวเอง
เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบรายเล็ก ที่เป็นคู่ค้ากับเจ้าสัว มีโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น และเสียดอกเบี้ยถูกลง จากปกติที่เสียกว่า 10% จะลดเหลือ 4-5% เนื่องจากการกู้โครงการนี้จะใช้เครดิตของธุรกิจรายใหญ่เข้ามาขอ และนำไปปล่อยกู้ต่อให้รายเล็กใช้
“ปกติผู้ประกอบรายใหญ่จะมีคู่ค้ารายเล็กที่เป็นซัพพลายเชนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาวัตถุดิบ การจัดเก็บสินค้า การส่งสินค้า ซึ่งโครงการนี้เรามีความตั้งใจ ที่จะเข้าไปเติมสภาพคล่องให้รายเล็ก โดยนำผู้ประกอบการที่มีสัญญาธุรกิจกับเจ้าสัวเข้าถึงเงินของ EXIM BANK ได้ และเชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาหนี้เสีย เพราะธุรกิจรายใหญ่จะรับความเสี่ยงดูแลรับผิดชอบให้”นายรักษ์กล่าว