นายวิฑูรย์ พรสกุลวานิช รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Integrated Channels และรักษาการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคาร ไทยพาณิชย์เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2566 จะโตขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบให้ต่างชาติมาท่องเที่ยวและลงทุน ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจต่างๆกลับมาคึกคักอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวเศรษฐกิจมีแนวโน้มเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากปัจจัยกดดันหลายประการที่ยังคงมีน้ำหนัก อาทิ แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 ที่ทำให้ผู้ซื้อบ้านต้องส่งค่างวดสูงขึ้นกว่าเดิม หรือใช้เวลาในการผ่อนชำระนานมากขึ้น
อีกทั้งปัจจัยด้านเงินเฟ้อที่ยังกดดันกำลังซื้อและหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง จะกระทบการซื้อจากกลุ่มที่มีความเปราะบางทางด้านการเงิน รวมถึงการยกเลิกมาตราการผ่อนปรนอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) สำหรับการกู้บ้านหลังที่ 2 จะกระทบการซื้อจากนักลงทุน ท่ามกลางราคาที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ซื้อในปีนี้จำเป็นต้องมีความพร้อมทางการเงินและมีวินัยทางการเงิน
ส่วนกลยุทธ์ของไทยพาณิชย์ สำหรับสินเชื่อบ้านใหม่ยังเน้นไปที่กลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นพันธมิตรหลักและเน้นที่บ้านแนวราบเป็นหลัก ระดับวงเงิน และราคาบ้านส่วนใหญ่ 3-5 ล้านบาท นอกจากนี้ ธนาคารยังเน้นการทำสินเชื่อบ้านแลกเงิน (My home my cash) เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนั้นธนาคารยังออกโปรแกรมรีไฟแนนซ์และกู้เพิ่มเพื่อรวมหนี้จากสถาบันการเงินอื่น เพื่อช่วยเหลือลูกค้าในการลดภาระผ่อน/ ภาระดอกเบี้ยจากการกู้สินเชื่อไม่มีหลักประกัน ที่อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอีกด้วย
โดยจัดการหนี้ให้ชีวิตไปต่อได้ไม่สะดุด รวมหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตร ด้วยสินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ My Sabai รับบัตรกำนัล Lotus’s เพื่อทดแทนค่าประเมินหลักประกัน ตามประเภทของหลักประกัน มูลค่ารวมสูงสุด 5,000 บาทต่อราย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566-30 มิถุนายน 2566 และเบิกจ่ายวงเงินสินเชื่อภายใน 10 วันทำการนับตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2566 เมื่อได้รับอนุมัติและเบิกจ่ายเงินสินเชื่อตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปและทำประกันชีวิตคุ้มครอง
ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และแนวทางบริหารจัดการ Stage3 และ Stage2 นั้นนายวิฑูรย์กล่าวว่า ธนาคารมีการบริหารและจัดการเอ็นพีแอลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยได้อย่างเหมาะสมและเป็นไปตามที่ธนาคารประมาณการณ์ไว้ โดยแนวทางการบริหารจัดการของ Stage2-Stage3 ธนาคารมีการบริหารจัดการและติดตามคุณภาพสินเชื่อแบบ end-to-end ตั้งแต่การอนุมัติสินเชื่อใหม่ รวมทั้งกระบวนการติดตามหนี้อย่างใกล้ชิด
อีกทั้งยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านมาตรการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืนสอดคล้องตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยให้ความสำคัญกับการพิจารณา Cashflow และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นหลัก
ด้านนายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าบุคคล ธนาคาร ทหารไทยธนชาต (ttb) กล่าวยอมรับว่า ธุรกิจรายย่อยของทีทีบีมีส่วนร่วมในการช่วยลดหนี้ครัวเรือนอยู่แล้ว เห็นได้จากมาตรการรวมหนี้ (ตามนโยบายของธปท.) โดยเป็นการรวมหนี้สินเชื่อรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งมีดอกเบี้ยอัตราสูงกว่าสินเชื่อบ้าน ซึ่งมีเจ้าหนี้อยู่กับสถาบันการเงินอื่น และนำหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงมารวมกับสินเชื่อบ้านในทีทีบี ซึ่งช่วยลูกหนี้ปิดภาระหนี้ได้ง่ายขึ้น และทำให้ลูกหนี้มีภาระที่ต้องจ่ายน้อยลง
“สำหรับทีทีบี มีลูกค้าเข้ามาไม่น้อยหากเทียบกับที่อื่น ผลตอบรับจากหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน 13% เข้ามามาก แต่ยอมรับว่า ปฎิเสธก็เยอะ เพราะลูกหนี้บางรายหนี้ท่วมจริงๆ ปีนี้เรายังเดินหน้าโครงการรวมหนี้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญต้องทำความเข้าใจลูกค้า เนื่องจากบางคนไปเข้าใจว่า ถ้ารวมหนี้ไว้ในแบงก์เดียวกันจะถูกยึดหลักประกัน และด้วยกระบวนการค่อนข้างยุ่งในมาตรการรวมหนี้ เช่นเราต้องออกเช็คไปให้แบงก์เจ้าหนี้อื่น” นายอนุวัติร์กล่าว
ขณะที่นายจเร เจียรธนะกานนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ทีทีบีกล่าวว่า ในส่วนของสินเชื่อบ้านของทีทีบีปีนี้ทั้งพอร์ตตั้งเป้าเติบโต 6% คิดเป็นสินเชื่อใหม่ประมาณ 6.8 หมื่นล้านบาทและสินเชื่อรีไฟแนนซ์น่าจะเติบโตกว่า 20% สาเหตุจากบ้านใหม่ไม่เติบโตมาก ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการของธปท.ที่ครบกำหนด
อย่างไรก็ตาม ธนาคารพยายามจะสื่อสารข้อดีของสินเชื่อรีไฟแนนซ์ หากลูกค้าได้รับทราบข้อดี เพราะรีไฟแนนซ์ไม่ใช่ลดดอกเบี้ยอย่างเดียว แต่สามารถขอวงเงินกู้ได้เพิ่ม เพื่อไปใช้จ่ายหรือชำระหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยสูงทำให้ภาระลูกค้าเบาลง
นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ไตรมาส 1 ปีนี้บรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา หากเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนและมีความเป็นไปได้ที่ความต้องการสินเชื่อบ้านจะโตน้อยกว่าปีก่อนและทั้งปีอาจติดลบ 5%
สาเหตุเพราะราคาบ้านได้ปรับตัวไปก่อนหน้า โดยลูกค้าระดับกลางและผู้มีรายได้น้อยนั้น รายได้ยังไม่กลับมาเท่าที่ควรทำให้ซื้อบ้านยาก อีกทั้งเร่งโอนก่อนหมดมาตรการ LTV และมาตรการภาษีมีเพียงแค่ค่าธรรมเนียมจดจำนองที่ต่ออายุ ส่วนมาตรการรวมหนี้จริงๆ มีลูกค้าเข้ามาขอคำปรึกษา แต่สุดท้ายเปลี่ยนไปใช้สินเชื่อบ้านปกติ ซึ่งมีความคล่องตัวกว่า
ขณะเดียวกันธนาคารยังเน้นผลิตภัณฑ์ Super Saving Home Loan ส่วนลูกค้ารีไฟแนนซ์บ้านปีนี้ คงไม่มากเหมือนปีก่อนๆ ส่วนหนึ่งเพราะรายได้ยังไม่ฟื้นหรือบางรายยื่นคำขอก็ไม่ผ่าน เนื่องจากดอกเบี้ยบ้านปีนี้ไม่ถูกเหมือนปีก่อนๆ
“ปีนี้เราเห็นภาพเศรษฐกิจเริ่มฟื้นจึงไม่กังวลลูกค้าเก่า แต่กังวลดีมานด์ใหม่ที่จะเข้ามาน้อย เพราะแม้ว่า ภาคท่องเที่ยวจะฟื้นแต่ไม่สามารถชดเชยภาคส่งออกที่หดตัวได้ โดยมองสินเชื่อใหม่ปีนี้ถ้าเท่าปีที่แล้วก็ดีแล้ว ทั้งอุตสาหกรรมอยู่ที่ 6.98 แสนล้านบาทเติบโต 14% จากสิ้นปี 64 อยู่ที่ 6.12 แสนล้านบาท”นายณัฐพล กล่าว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,878 วันที่ 13 - 15 เมษายน พ.ศ. 2566