14 มีนาคม 2566 - ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เท่ากับ 108.05 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (104.10) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 3.79% (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน แต่ยังไม่เข้ากรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ จึงถือเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
เงินเฟ้อ ฉุดทิศทางอสังหาฯ ปี 2566
สำหรับ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยนั้น DDproperty (ดีดีพร็อพเพอร์ตี้) ชี้ว่าภาวะเงินเฟ้อถือเป็นอีกความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยผู้บริโภคเกือบ 4 ใน 5 (73%) เผยว่าภาวะเงินเฟ้อส่งผลกระทบให้ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนรายวันปรับสูงขึ้น รวมทั้งกระทบแผนการเงิน ทำให้เงินเก็บรายเดือนลดน้อยลง (50%) นอกจากนี้ยังทำให้ต้องลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนรายวันลงไป (ในสัดส่วนเท่ากันที่ 41%)
แน่นอนว่าภาวะเงินเฟ้อยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ และสั่นคลอนแผนการซื้อที่อยู่อาศัยตามไปด้วย ในช่วงที่ต้องเผชิญภาวะเงินเฟ้อสูง มีผู้บริโภคเพียง 1 ใน 5 (23%) เท่านั้นที่ยังเดินหน้าซื้อที่อยู่อาศัยตามแผนเดิม ขณะที่ 3 ใน 5 (63%) เลือกชะลอการซื้อที่อยู่อาศัยออกไปก่อนจนกว่าภาวะเงินเฟ้อจะลดลง ส่วนอีก 14% ยกเลิกแผนการซื้อที่อยู่อาศัยทั้งหมด เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อถือเป็นอีกตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินและการผ่อนชำระที่อยู่อาศัย
56% ต้องการมาตรการช่วยลดดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน
แม้ว่าปีนี้ภาครัฐจะมีการต่ออายุมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาฯ บางส่วน เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) ได้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยง่ายขึ้น แต่มาตรการที่มีอาจไม่ดึงดูดใจผู้บริโภคมากเพียงพอ โดยมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนการซื้อที่อยู่อาศัยจากภาครัฐในช่วงภาวะเงินเฟ้อที่ผู้บริโภคต้องการนั้น
มากกว่าครึ่ง (56%) ต้องการมาตรการที่ช่วยลดดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเพิ่มเติม ตามมาด้วยมาตรการลดดอกเบี้ยทั้งสินเชื่อบ้านที่กู้ใหม่และที่มีอยู่ (54%) และมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรก (41%) นอกจากนี้ 39% คาดหวังให้มีการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระสูงสุด สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่คาดหวังมาตรการทางการเงินที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในกลุ่ม Real Demand ในช่วงที่มีความท้าทายเช่นนี้ได้อย่างตรงจุดมากขึ้น
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นด้านอสังหาริมทรัพย์ของผู้บริโภคชาวไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 49% จากเดิม 51% ในรอบก่อน อันเป็นผลมาจากความท้าทายด้านการเงินที่รุมเร้าทั้งจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพโดยตรง ทำให้ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคปรับลดลงมาอยู่ที่ 65% (จาก 67% ในรอบก่อนหน้า)
เงินไม่พร้อม เลือก 'เช่าบ้าน' แทน
โดยดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ยังเผยว่า จากภาวะ เงินเก็บไม่พร้อม จึงดึงดูดให้ผู้ตอบแบบสอบถาม เลือกเช่าที่อยู่อาศัยแทน ซึ่งเหตุผลหลักของผู้ที่เลือกเช่าที่อยู่อาศัยใน 1 ปีข้างหน้านั้น เกือบครึ่ง (45%) เผยว่ายังไม่มีเงินเก็บเพียงพอในการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ตามมาด้วยไม่ต้องการตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่เพียงที่เดียว (36%) ขณะที่อีก 31% มองว่าที่อยู่อาศัยมีราคาแพงเกินไป จึงเลือกเก็บออมเงินไว้แทน สะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์การอยู่อาศัยที่ปรับเปลี่ยนไปตามบริบทแวดล้อม การเช่าที่อยู่อาศัยช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดรายจ่ายจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจของคนหาบ้านในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังตอบโจทย์การใช้ชีวิตในเมืองหลวงมากกว่า รวมทั้งมีความยืดหยุ่นและคล่องตัวกว่าหากต้องการโยกย้ายทำเลในอนาคต