สินเชื่อแบงก์พาณิชย์ไตรมาสแรกปี 66 ชะลอลง NPL เหลือ 2.68%

22 พ.ค. 2566 | 09:20 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ค. 2566 | 09:22 น.

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผย สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสแรกปี 66 ขยายตัว 0.51% ชะลอลง ด้าน NPL ปรับเหลือ 2.68% ภาพรวมยังมีเสถียรภาพ เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสแรกปี 66 ขยายตัว 0.51% ชะลอลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 

ทั้งนี้เป็นผลจากการชำระคืนหนี้ของภาครัฐ ธุรกิจขนาดใหญ่ และ Soft loans รวมทั้งการบริหารจัดการคุณภาพหนี้โดยธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนหนึ่งระดมทุนผ่านตราสารหนี้ 

ขณะที่สินเชื่อยังขยายตัวได้จากธุรกิจรายใหญ่ในภาคการเงินและพาณิชย์ รวมทั้งสินเชื่อรายย่อยพอร์ตที่อยู่อาศัยและสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสำคัญ

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

สำหรับคุณภาพสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์มีการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ NPL ในไตรมาสแรกลดลงมาอยู่ที่ 498 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมที่ 2.68% 

ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปีนี้ปรับดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น สุทธิกับต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินรับฝากกลับสู่ระดับปกติ 

ทั้งนี้หากเทียบไตรมาสก่อน กำไรสุทธิลดลง 4% จากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับไตรมาสก่อนมีรายได้พิเศษจากการขายและโอนพอร์ตสินเชื่อรายย่อย แม้ค่าใช้จ่ายสำรองและค่าใช้จ่ายดำเนินงานจะปรับลดลง 

อย่างไรก็ตามภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง

แต่ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มครัวเรือนเปราะบางที่รายได้ฟื้นตัวช้าและมีหนี้สูง และการฟื้นตัวของธุรกิจบางกลุ่ม โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ทรงตัวจากไตรมาสก่อน 

ขณะที่ภาคธุรกิจ สัดส่วนหนี้สินภาคธุรกิจต่อ GDP ปรับลดลงต่อเนื่อง ด้านความสามารถในการทำกำไรปรับลดลงแต่ฐานะการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยยังต้องติดตามผลกระทบจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอลง