จับตาหนี้จัดชั้น SM หลังไตรมาสแรกยังค้าง 1.1 ล้านล้านบาท

30 พ.ค. 2566 | 10:28 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2566 | 10:28 น.

ธปท.จ่อออกเกณณ์กลางปีหน้า คุมแบงก์ปล่อยสินเชื่อเกินตัว ดูแลลูกหนี้ครบวงจร ทั้งแก้ไขหนี้เดิม เติมเงินใหม่ ห่วงหนี้เสียส่วนบุคคลพุ่ง หลังพบสัญญานหนี้ SM จะเสียเพิ่มอีก 6.6 แสนล้านบาท

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานผลการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1 ปี 2566 พบว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือ NPL มียอดคงค้าง 4.98 แสนล้านบาท สัดส่วนต่อสินเชื่อรวม 2.73% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 2.68% โดยเอ็นพีแอลในกลุ่มธุรกิจปรับลดลงจาก 2.77% มาอยู่ที่ 2.67% ซึ่งเป็นการปรับลดทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีวงเงินเกิน 500 ล้านบาทและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ขณะที่ลูกหนี้อุปโภคบริโภคขยับเพิ่มเล็กน้อยจาก 2.62% มาอยู่ที่ 2.68% โดยพบว่า เอ็นพีแอลสินเชื่อบ้านปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.16% ซึ่งอาจเป็นผลกระทบจากดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ภาระผ่อนชำระไม่เพียงพอ จึงสั่งการให้ธนาคารเจ้าหนี้เร่งเข้าไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้หรือปรับเทอมการชำระหนี้แล้ว

ทั้งนี้เมื่อพิจารณายอดเอ็นพีแอลคงค้างทั้งระบบ 4.98 แสนล้านบาทนั้น เป็นสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 143,997 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก 140,432 ล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า โดยมาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย 85,139 ล้านบาทจากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 81,055 ล้านบาท สินเชื่อรถยนต์ 22,520 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก 22,288 ล้านบาท สินเชื่อบัตรเครดิต 6,797 ล้านบาทลดลงจาก 7,304 ล้านบาท สินเชื่อส่วนบุคคลอื่น 29,540 ล้านบาทลดลงจาก 29,785 ล้านบาท

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า เอ็นพีแอล ของระบบธนาคารพาณิชย์ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้วและแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้น แต่พบว่า สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ(Special Mention Loan:SM) ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ สินเชื่อภายใต้กำกับ นอนแบงก์และสถาบันการเงินของรัฐ ที่กำลังจะเป็นหนี้เสียอีก 6.6 แสนล้านบาท โดยกระจายตัวทุกโปรดักส์ทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

จับตาหนี้จัดชั้น SM หลังไตรมาสแรกยังค้าง 1.1 ล้านล้านบาท

 

“ธปท.พยายามดูว่า ลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพและสามารถชำระหนี้แต่ได้รับผลกระทบชั่วคราว เรายังขอให้ทางแบงก์เจ้าหนี้ ให้การช่วยเหลืออยู่และปรับโครงสร้างหนี้ต่อไป” นางสาวสุวรรณี กล่าว

สำหรับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้วทรงตัวอยู่ที่ 86.9% ส่วนใหญ่ชะลอตัวลง แต่สินเชื่อส่วนบุคคลยังขยายตัว สะท้อนภาระหนี้ครัวเรือนบางส่วนที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จึงต้องพึ่งพาสินเชื่อเพื่อสภาพคล่องและการบริโภค ซึ่งธปท.พยายามดูแลว่า จะทำอย่างไรให้หนี้ครัวเรือนปรับลดลง ซึ่งมาตรการของธปท.ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาระยะยาว

ส่วนการแก้ปัญหาหนี้ระยะสั้นจะเน้นมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ที่ยังสามารถทำได้ แม้ว่ามาตรการจะหมดอายุในสิ้นปีนี้ ซึ่งหลังปี 2567 หากมีลูกหนี้มีปัญหาธนาคารยังสามารถปรับโครงสร้างหนี้ในช่องทางปกติได้

“เราจับตา SM ซึ่งตัวเลขที่ออกมา อาจจะเป็นสัญญาณช่วง Step Up ลูกหนี้จ่ายไม่ได้ ตอนนี้มาตรการมีความยืดหยุ่นสามารถปรับกระแสเงินสดได้ เช่น ก่อนหน้าเคยจ่าย 1,000 บาทต่อเดือน อาจจะปรับลงมาจ่ายเดือนละ 600 หรือ 400 บาท แต่อาจจะต้องเข้าไปดูเพิ่มเติม ในกลุ่มที่จบมาตรการเดิม แต่ไม่สามารถต่อได้ทันท่วงที” นางสาวสุวรรณีกล่าว

จับตาหนี้จัดชั้น SM หลังไตรมาสแรกยังค้าง 1.1 ล้านล้านบาท

นางสาวสุวรรณีกล่าวต่อว่า นอกจากการออกหนังสือเวียน เป็นแนวทางในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อดูแลหนี้ครัวเรือนแล้ว ประมาณกลางปีหน้า ธปท.จะออกประกาศเพิ่มเติม เพื่อดูแลลูกหนี้ตั้งแต่การแก้ไขหนี้เดิม เติมเงินใหม่ และเมื่อลูกหนี้มีปัญหาจะต้องมีกระบวนการบางอย่าง

เช่น เมื่อลูกหนี้ประสบปัญหา สถาบันการเงินจะมีมาตรการสนับสนุน ด้วยการไกล่เกลี่ยหนี้ โดยมีกระทรวงยุติธรรมเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งเป็นการทำครบวงจรทั้ง ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างที่เป็นหนี้และหลังจากที่นี่มีปัญหาแล้ว ทั้งนี้แนวทางแก้ไข ต้องเน้นให้ตรงจุด ไม่หว่านแห เพราะทรัพยากรมีจำกัด ไม่สามารถช่วยเหลือทุกคน หรือกรณีหนี้เดิม ต้องช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องทั้งเรื่องปล่อยกู้ใหม่,การเข้าไปดูแลโฆษณา ที่กระตุ้นการใช้จ่ายเกินสมควร ทั้งการเสนอผลิตภัณฑ์ น่าจะสอดคล้องกับความต้องการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan:SM) มียอดคงค้างไตรมาส 1 ปี 2566 อยู่ที่ 1,129,281 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 23,039 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 1,106,242 ล้านบาท โดยเฉพาะ SM สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นกว่า 11,475 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อนและเพิ่มขึ้นกว่า 4,987 ล้านบาทเมื่อเทียบไตรมาสก่อน

ทั้งนี้ สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นส่วนหนึ่งของสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ซึ่งมีความเสี่ยงสูง โดยให้ผลตอบแทนกับเจ้าหนี้สูง แม้จะต้องจ่ายแพงกว่าสินเชื่อประเภทอื่น โดยเจตนาของธปท.ที่เปิดให้มีบริการ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อ เป็นการไปช่วยเสริมให้คนที่ไม่เคยอยู่ในหนี้นอกระบบได้เข้ามาอยู่ในระบบ เช่นเดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (ดิจิทัล พีโลน)

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,890 วันที่ 25 - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2566