หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปีต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 6 นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับขึ้นจาก 1.75% ต่อปีเป็น 2.00% ต่อปี มีผลวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา
ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งต่างเดินหน้าปรับดอกเบี้ยขึ้น ทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อให้เป็นไปตามทิศทางของดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เช่นเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) หรือแบงก์รัฐที่ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากเช่นกัน
ธนาคารรัฐแรกที่ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยทันทีคือ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ย Prime Rate 0.25% ต่อปีจาก 6.25% ต่อปี เป็น 6.50% ต่อปี เพื่อให้การดำเนินงานของ EXIM BANK สอดคล้องกับทิศทางของเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อและสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของธปท. ซึ่งจะช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า แม้จะปรับดอกเบี้ย Prime Rate ขึ้น 0.25% ต่อปี ซึ่งยังคงเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี(MRR) ที่ต่ำที่สุดในระบบ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป
ตามด้วยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ที่ประกาศปรับขึ้นทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ โดยมีผล ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2566 โดยนายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับขึ้น 0.05-0.50% ต่อปี เพื่อส่งเสริมการออมและเพิ่มผลตอบแทนให้สอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs)
ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับขึ้น 0.10-0.25% แบ่งเป็น อัตราดอกเบี้ย MRR ปรับขึ้น 0.10% จาก 6.875% เป็น 6.975%ต่อปี, อัตราดอกเบี้ยลูกค้าสถาบันและนิติบุคคลชั้นดี(MLR) ปรับขึ้น 0.25% จาก 5.375% เป็น 5.625% ต่อปี,และอัตราดอกเบี้ยประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับขึ้น 0.125% จาก 6.750% เป็น 6.875% ต่อปี
ขณะที่นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคาร ออมสินกล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. ธนาคารจึงได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงสุด 0.35% ต่อปี เพื่อให้ลูกค้าผู้ฝากเงินได้รับประโยชน์ตามทิศทางของดอกเบี้ยขาขึ้น ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ ธนาคารปรับขึ้นทุกประเภทในอัตรา 0.25% ต่อปี ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป
“ที่ผ่านมาได้มีการพิจารณาปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อช่วยประคับประคองและดูแลกลุ่มลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบาง ไม่ให้ได้รับผลกระทบมากนัก โดยจะเห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR สำหรับลูกค้ารายย่อยของธนาคารอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่”นายวิทัยกล่าว
ทั้งนี้ หากออมสินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.25% เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย.66 เป็นต้นไป จะส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา (MLR) อยู่ที่ 6.900% ต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 6.650% ต่อปี, ดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) อยู่ที่ 6.745% ต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 6.495% ต่อปี, และดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) อยู่ที่ 6.995% ต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 6.745% ต่อปี
ล่าสุดธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ และเงินฝากประจำ 0.05-0.35% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.25% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป
นายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการและรักษาการ กรรมการผู้จัดการ ธอส.กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษและเงินฝากประจำ เพื่อส่งเสริมการออมและให้ผู้ฝากเงินได้รับประโยชน์ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.25% ต่อปี เป็นการปรับเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของ ธอส. ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ และธอส. ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ยังมีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ สำหรับผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองอีกด้วย
ขณะที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) หรือ SME D Bank ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐที่มีบทบาทช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ทั้งเงินฝากและเงินกู้ล่าสุดหลังการประชุมกนง.รอบก่อนหน้าเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 ที่มีมติเอกฉันท์ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% เช่นกัน
ทั้งนี้ ธพว.ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภทสมุดคู่ฝาก และใบรับฝากเงินประจำ ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุด 0.25% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (MLR) ปรับเพิ่มขึ้น 0.25% ต่อปี จาก 7.00%ต่อปี เป็น 7.25%ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566
แหล่งข่าวจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า ขณะนี้ SME D Bank ยังไม่ได้สรุปประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคาร ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.66 ยังคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (MLR) อยู่ที่ 7.25%ต่อปี และคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) อยู่ที่ 8.050% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม หลังกระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคมที่ชะลอลงสู่ระดับ 0.53% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี จากหมวดพลังงานที่กลับมาหดตัวตามค่ากระแสไฟฟ้าและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลง อีกทั้งหมวดอาหารสดชะลอลงตามราคาเนื้อสุกร ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงเล็กน้อยที่ 1.55%YoY จากราคาเครื่องประกอบอาหาร ค่าโดยสารสาธารณะ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
Krungthai COMPASS ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องจากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนุนให้กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนสิงหาคม หลังจากที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันทั้งหมด 1.50% สู่ระดับ 2.00% ต่อปี อีกทั้งเพื่อรอดูความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลและนโยบายทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าด้วย
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,895 วันที่ 11 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2566