อัพเดตผลกระทบหลังตลาดเช่าซื้อ หลังสคบ.คุมเพดานดอกเบี้ย พบ “ดีลเลอร์” ดาหน้่าขึ้นราคาขายมอเตอร์ไซด์ รับคอมมิชชั่นลด ผลักภาระให้ผู้ซื้อและรถยนต์ใหม่ กลุ่มดาวน์ต่ำ ผ่อนนานเริ่มส่งสัญญาณทำตลาดยาก เหตุดอกเบี้ยชาร์ตกลุ่มเสี่ยงสูงปริ่มเพดาน หลังแบงก์ทยอยปรับเพิ่มดอกเบี้ยขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบาย
ระหว่างรอประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฏ )ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดการประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 พ.ศ....เพื่อกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์
นายศรัณย์ ทองธรรมชาติ ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภายใต้ร่างพ.ร.ฎ.ของธปท. มีกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ครอบคลุมทุกขนาดธุรกิจ(Size) ประกอบด้วย ธุรกิจรายใหญ่ รายกลาง รายเล็กและรายจิ๋ว ที่มียอดสินเชื่อคงค้างตั้งแต่ 5,000 ล้านบาท, ขนาดพอร์ตตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท,ขนาดพอร์ต 100 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท และขนาดพอร์ตไม่เกิน 100 ล้านบาทตามลำดับ
“บริษัทสมาชิกของสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยจะครอบคลุมผู้ประกอบการเช่าซื้อในระบบ 85% ที่เหลือยังอยู่นอกระบบราว 15% รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจท้องถิ่นที่มีจำนวนรายมากกว่าสมาชิกของเรา โดยทั้ง 4 กลุ่มจะต้องขึ้นทะเบียน/แสดงตัวตนกับธปท.” นายศรัณย์ กล่าว
สำหรับภาพรวมของธุรกิจเช่าซื้อครึ่งปีหลัง ตลาดยังมีความหวังกับมาตรการของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมองว่า ทั้งปีธุรกิจเช่าซื้อจะเติบโต 5-6% ยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อจะอยูที่ 2.15 ล้านล้านบาท จากตอนนี้อยู่ที่ 2.04 ล้านล้านบาทบนสมมติฐานยอดขายรถยนต์ทั้งปีอยู่ที่ 8.9-9 แสนคัน
สำหรับช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ธุรกิจเริ่มคลายตัว แต่ไม่ดีนัก เพราะปัจจัยเสี่ยงมีมากกว่าปัจจัยหนุน โดยเฉพาะไตรมาสแรกความต้องการสินเชื่อไหลเข้ามาจากงานมอเตอร์เอ็กซ์โปทำให้ดึงลูกค้ากลุ่มที่มีกำลังซื้อเข้ามาได้บางส่วน แต่เดือนเมษายน ช่วงสงกรานต์เริ่มเห็นสัญญาณลูกค้าไม่สามารถชำระค่างวด เพราะบางส่วนยังตกงานไม่มีรายได้กลับมา ภาพรวมตลาดยังห่วงหนี้เอ็นพีแอล จึงคัดเลือกลูกค้าที่มีคุณภาพ
สำหรับผลจากการควบคุมเพดานดอกเบี้ยของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)นั้น ในส่วนของรถยนต์ใหม่เริ่มมีสัญญาณกลุ่มลูกค้าดาวน์ต่ำผ่อนนานได้รับผลกระทบ เนื่องจากเดิมกลุ่มนี้จะถูกชาร์ตดอกเบี้ยตามความเสี่ยงที่สูง แต่เมื่อธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับเพิ่มดอกเบี้ยตามดอกเบี้ยนโยบายทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนไม่สามารถชาร์ตดอกเบี้ยได้ เนื่องจากดอกเบี้ยปริ่มเพดาน
แหล่งข่าวจากธุรกิจเช่าซื้อระบุว่า ภายใต้ร่างพ.ร.ฎ.ของธปท.จะมีผู้ประกอบการทั้งระบบเข้ามาอยู่ภายใต้กำกับของธปท. จำนวนมากเกือบ 3,000 รายที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบรวมทั้งรายน้อย รายเล็กที่เป็นผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยยังไม่รวมกลุ่มดีลเลอร์ที่ขายรถและปล่อยกู้ด้วย
สำหรับไทม์ไลน์ในการกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อเบื้องต้น ธปท.กำหนดจะนำร่างพ.ร.ฏ.เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่อีกครั้ง หลังการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคาดว่า จะประกาศลงราชกิจจานุเบกษาประมาณเดือนสิงหาคมและจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566
ส่วนหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล 2 เรื่องคือ การให้บริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม (market conduct)สำหรับรายใหญ่ แต่ในส่วนธุรกิจรายกลาง รายเล็กและรายจิ๋วอยู่ระหว่างหารือกับธปท. อีกเรื่องคือ การกำกับการจัดทำรายงานเพื่อนำส่งข้อมูลตามแต่ละขนาดหรือกลุ่มของธุรกิจต่อธปท. โดยธุรกิจขนาดใหญ่นั้น จำเป็นต้องจัดทำรายงานให้ได้มาตรฐานมาร์เก็ตคอนดักต์ทั้ง 9 ระบบ ที่เหลือยังเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการธุรกิจบางส่วนจะต้องลงทุนพัฒนาระบบ เพื่อปรับการจัดทำรายงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานมาร์เก็ตคอนดักต์
“ธปท.นัดหารือผู้ประกอบธุรกิจอีกครั้งในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ เข้าใจว่า จะเป็นการหารือเพื่อแบ่งกลุ่มธุรกิจและแนวทางในการกำกับว่า ควรจะเป็นอย่างไร แต่แนวทางในการปฎิบัตินั้น ทางธปท.ยังให้เวลาสำหรับผู้ประกอบการเช่าซื้อ เพื่อการปรับตัว”
ส่วนผลกระทบจากการคุมเพดานดอกเบี้ยของสคบ.พบว่า เช่าซื้อในกลุ่มมอเตอร์ไซด์มีประเด็นเรื่องการขึ้นราคาขายรถ ซึ่งเป็นการผลักภาระให้ผู้ซื้อ เนื่องจากค่าคอมมิชชั่นถูกปรับลดลงมาก อย่างเช่น ราคารถมอเตอร์ไซด์เดิมอยู่ที่ 35,000 บาทจะปรับราคาขึ้นเป็น 43,000 บาทต่อคัน ทั้งดีลเลอร์หรือคนขายทำแบบนี้กันหมด
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ประกอบการค่ายผลิตรถยนต์ (Captive Finance)ในตลาด 6 รายใหญ่ยอดสินเชื่อคงค้างประมาณกว่า 5-6 แสนล้านบาทได้แก่ โตโยต้าลิสซิ่ง อีซุซุลิสซิ่ง ฮอนด้าลิสซิ่ง นิสสันลิสซิ่ง บีเอ็มลีสซิ่งและเมอร์ซิเดตเบนซ์
ด้านนางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์และโฆษกธปท.กล่าวว่า ร่างกฎหมายกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ซึ่งธปท.ได้เตรียมการรองรับการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวเช่น ทยอยหารือกับผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค เพื่อให้มั่นใจว่า เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ธปท.จะสามารถเข้ากำกับดูแล เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและดูแลเสถียรภาพด้านการเงินได้อย่างเหมาะสม และหากมีความคืบหน้าในรายละเอียด ธปท. จะแจ้งให้ทราบต่อไป
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,894 วันที่ 8 - 10 มิถุนายน พ.ศ. 2566