ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้กรมสรรพสามิต ศึกษาทบทวนโครงสร้างและอัตราภาษีบุหรี่ทั้งในระยะปานกลางและระยะยาว เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างแบบอัตราเดียวที่เหมาะสมเป็นธรรม และคำนึงถึงการแข่งขันในตลาด และการดูแลสุขภาพของประชาชนด้วยนั้น
ล่าสุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เชิญผู้บริหารระดับสูงกรมสรรพสามิต ได้เข้าหารือถึงเรื่องดังกล่าว พร้อมสอบถามความคืบหน้าการศึกษา โดยนายอาคม ได้กำชับ ให้กรมสรรพสามิต เร่งศึกษาข้อดีและข้อเสียให้แล้วเสร็จ หลังจากโครงสร้างภาษีบุหรี่ได้ประกาศใช้มาแล้วเกือบ 2 ปีแล้ว
สำหรับโครงสร้างภาษีบุหรี่สรรพสามิต ที่มีการจัดเก็บมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564 ดังนี้
1. อัตราภาษีบุหรี่ซิกาแรต จัดเก็บภาษีตามมูลค่า 25% ของราคาขายปลีกแนะนำ ซองละไม่เกิน 72 บาท และ 42% ของราคาขายปลีกแนะนำ ที่เกินซองละ 72 บาท และจัดเก็บภาษี ตามปริมาณ 1.25 บาทต่อมวน
2. อัตราภาษียาเส้นที่มีปริมาณการผลิตไม่เกิน 12,000 กิโลกรัมต่อปี จัดเก็บอัตราภาษีตามปริมาณที่ 0.025 บาทต่อกรัม และยาเส้นที่มีปริมาณการผลิตเกิน 12,000 กิโลกรัม จัดเก็บ อัตราภาษีตามปริมาณที่ 0.10 บาทต่อกรัม โดยรายได้จากภาษียาสูบ เป็นรายได้อันดับที่ 5 ของกรมสรรพสามิต มีรายได้เฉลี่ยปีละ 60,000-64,000 ล้านบาท
ส่วนปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า ถึงแม้จะเป็นสินค้าห้ามนำเข้า เป็นสินค้าผิดกฎหมาย แต่มีวางจำหน่ายทั่วไปทั้งออนไลน์และวางขายตามแหล่งบันเทิงทั่วประเทศนั้น ถือเป็นปัญหาคาราคาซัง ที่ไม่มีข้อยุติ ว่าแก้ปัญหาอย่างไร เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข ไม่ยินยอมที่จะให้กำหนดอัตราพิกัดภาษี ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำได้เพียงการปราบปรามตามกฎหมายเท่านั้น