ผู้ว่าฯธปท. ชี้ตั้งรัฐบาลช้าไม่กระทบเศรษฐกิจ คาดปีนี้โต 3-4%

19 ก.ค. 2566 | 07:13 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2566 | 07:13 น.

ผู้ว่าฯธปท. ชี้ตั้งรัฐบาลช้าไม่กระทบเศรษฐกิจปี 66 คาดขยายตัวได้ 3-4% แต่มีผลกระทบในปี 67 ห่วงหนี้ครัวเรือน แนะชะลอออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เน้นสร้างเสถียรภาพ

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ยังมีศักยภาพ คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ในระดับ 3-4% ส่วนความไม่แน่นอนเรื่องรัฐบาล ว่าใครจะมา หรือมาเมื่อไหร่ มองว่าจะไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ให้เปลี่ยนแปลงไปมาก

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

“ในประมาณการ ธปท. ได้รวมสมมติฐานไปหมดทั้งเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล เราคาดว่าการจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณปี 67 จะล่าช้าไป 1 ไตรมาส แต่ข้อเท็จจริง กระบวนการยังเป็นไปตามปกติ งบประจำยังเบิกจ่ายใช้ โดยไตรมาส 4/66-ไตรมาส 1/67 ที่หายไปจริง ๆ คือ งบลงทุน แต่ก็ไม่ได้มีสัดส่วนมาก คงไม่กระทบปีนี้ แต่จะไปกระทบปี 2567"

นอกจากนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.2% ดีกว่าครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 2.9% มีแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคเติบโตดี หัวใจสำคัญ คือ ภาคการท่องเที่ยว ปีนี้คาดว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 29 ล้านคน อย่างไรก็ตาม มองว่าสิ่งที่ยังน่าเป็นห่วง คือ หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูงที่ 90% ของจีดีพี

ส่วนกรณีที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ที่ออกมาไม่ค่อยดี ทำให้คาดว่าการส่งออกของไทย ทั้งปีคือแทบจะไม่เติบโต

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปีนี้ ธปท.ยอมรับว่าต่ำกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จากราคาอาหาร และราคาพลังงานโลกที่ปรับลดลง แต่ก็เป็นปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งหลังจากนั้นคาดว่าทิศทางเงินเฟ้อจะค่อยๆ กลับขึ้นมา จาก 2 ปัจจัย ได้แก่

  1. การท่องเที่ยวฟื้นกลับมา โดยเฉพาะในภาคบริการ
  2. การใช้กำลังการผลิตใช้มากขึ้น โอกาสส่งผ่านต้นทุนของภาคธุรกิจก็จะเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ จากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงกว่าที่คาด แต่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปนั้น ส่งผลให้ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน เพราะมุมมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อยังเป็นไปตามที่ ธปท.คาดไว้ ดังนั้นยังมีความจำเป็นต้องทำนโยบายการเงินให้กลับสู่ภาวะปกติ แบบค่อยเป็นค่อยไป

ซึ่งไม่ได้พิจารณาแค่ปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อเท่านั้น แต่ต้องดูปัจจัยระยะยาวให้กลับสู่สภาวะปกติ หาจุดที่เหมาะสม สร้างความสมดุลของดอกเบี้ยให้เหมาะกับเศรษฐกิจ และขยายตัวได้ตามศักยภาพ

“เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% และไม่ได้สร้างปัญหาเสถียรภาพการเงิน ไม่ใช่การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจัดการเงินเฟ้อตอนนี้ ความจำเป็นที่จะต้องหยุดการทำนโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกตินั้น ยังไม่เห็น เราไม่อยากให้ตลาดเข้าใจว่าเงินเฟ้อลงแล้ว เหมาะที่จะหยุดขึ้นดอกเบี้ย แต่เงินเฟ้อที่ลง เป็นเรื่องชั่วคราว และมีโอกาสกลับขึ้นมา เราอยากเห็นเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบอย่างยั่งยืน”

ขณะที่การทำนโยบายรัฐบาล ควรมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพ มากกว่าการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าดูตัวเลขการบริโภคเอกชนครึ่งปีแรก ยังขยายตัวได้ 5% การกระตุ้นการบริโภคจึงอาจจะยังไม่จำเป็น ส่วนการท่องเที่ยวก็เริ่มฟื้นกลับมา ดังนั้นควรมุ่งนโยบายในการสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจ