นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส. ) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธ.ก.ส. มีลูกหนี้ที่มีความเปราะบางต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 300,000 ล้านบาท และในจำนวนดังกล่าวมีลูกหนี้ตกชั้นหรือเข้าข่ายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้เก่า 5,000 ล้านบาท และหนี้ใหม่ 5,000 ล้านบาท
ซึ่งธนาคารจะเข้าไปเร่งบริหารจัดการ เพื่อดูแลให้ลูกหนี้มีความสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามกำหนด โดยตั้งเป้าหมายว่าปีนี้หนี้เสียจะอยู่ที่ 4-5% จากเดือนมี.ค.66 อยู่ที่ระดับ 7.68%
สำหรับปัญหาหนี้เสียของธนาคารนั้น เนื่องจากเกษตรกร ได้รับผลกระทบปัญหาภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้ง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้ไม่เงินใช้หนี้ ซึ่งธนาคารก็ได้ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือลูกหนี้หลายราย
"เรามีการช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยหาตลาดขายสินค้า และช่วยปรับวิธีคิดของเกษตรกร เพื่อประคับประคองให้ลูกหนี้เกษตรกรได้มีอาชีพ นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับตารางชำระหนี้ใหม่ให้สอดคล้องกับศักยภาพของลูกค้าและที่มาของรายได้ด้วย"
ทั้งนี้ ยอมรับว่าการปล่อยสินเชื่อของธ.ก.ส. แตกต่างจากธนาคารอื่นมาก ปีบัญชีของธ.ก.ส.เริ่มเดือนเม.ย.ของทุกปี ลูกหนี้จะชำระหนี้ปีละครั้ง เช่น กู้ปลูกมันสำปะหลัง 100,000 บาท ชำระปีละ 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
ขณะที่ลูกค้าบางรายกู้เพื่อเกษตรกรรม เมื่อครบ 1 ปี ก็มาชำระเงินกู้เต็มจำนวน พร้อมดอกเบี้ย และทำการกู้ใหม่อีก บางรายกู้ได้วงเงินเพิ่ม บางรายกู้ได้วงเงินน้อยลง ตามวงเงินหลักทรัพย์ค้ำประกันและความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งธ.ก.ส.ต้องเรียนรู้วิธีการชำระหนี้ของเกษตรกร เพื่อปรับวิธีการให้ตรงกับที่มาของรายได้ จะได้ไม่เกิดปัญหาหนี้เสีย