คลังชงลดสวัสดิการซ้ำซ้อน จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุเฉพาะคนจน

31 ก.ค. 2566 | 01:50 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ก.ค. 2566 | 01:50 น.

คลังชงรัฐบาลใหม่ลดสวัสดิการซ้ำซ้อน จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุเฉพาะคนจน ชี้นโบายหาเสียงจ่ายเงินคนชราถ้วนหน้า ต้องใช้งบเฉียด 2 แสนล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมแนวทางลดรายจ่ายเพื่อดูแลฐานะการคลังให้มีความยั่งยืนเสนอต่อรัฐบาลใหม่ โดยหนึ่งในแนวทาง คือ ปรับลดรายจ่ายสวัสดิการ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความซ้ำซ้อน หรือ ลดกลุ่มเป้าหมายลง เช่น การจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุ และการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 

สำหรับการดำเนินตามแนวทางดังกล่าว ถือเป็นการใช้นโยบายการคลังที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อลดภาระทางการคลัง ซึ่งเป็นแนวทางที่ในหลายประเทศทั่วโลกหันมาใช้หลังรัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินเพื่อดูแลเศรษฐกิจและสังคมจำนวนมากในช่วงโควิดที่ผ่านมา

“จากการประเมินภาวะเศรษฐกิจในช่วงนับจากนี้ไป เศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวได้ดี ประกอบกับ การแพร่ระบาดของโควิดได้คลี่คลายลง ดังนั้น ทิศทางนโยบายการคลังระยะนับจากนี้ไปจะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยต้องหันมาให้ความสำคัญกับความเข้มแข็งทางการคลังทั้งในส่วนของการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ และ การลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น รวมถึงการลดรายจ่ายที่มีความซ้ำซ้อน”

ทั้งนี้ สำหรับสวัสดิการที่รัฐบาลเข้าไปดูแลกลุ่มเป้าหมายที่มองว่ามีความซ้ำซ้อน อาทิ สวัสดิการดูแลผู้มีรายได้น้อยซึ่งมีอยู่หลายโครงการ เช่น 

  • บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 
  • โครงการเงินสงเคราะห์ครอบครัว 
  • กองทุนสวัสดิการชุมชน
  • โครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย 
  • โครงการบ้านมั่นคง 
  • โครงการสงเคราะห์ผู้ตกทุกข์ได้ยากกลับภูมิลำเนาเป็นต้น 

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตรวจความถูกต้องความซ้ำซ้อนของสวัสดิการและจำกัดวงเงินการช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณไปได้มาก

นอกจากนี้ ยังมีสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุที่มีความซ้ำซ้อน ซึ่งแนวทางการดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบันนั้น มีอยู่หลายโครงการ อาทิ 

  • การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุแบบขั้นบันได 
  • การจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุในภาวะยากลำบาก 
  • เงินสงเคราะห์ในการจัดทำศพ 
  • กองทุนผู้สูงอายุ 
  • การดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง เป็นต้น

ในส่วนที่จะสามารถลดความซ้ำซ้อนการใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการผู้สูงอายุนั้น คือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได โดยในปี 2566 คาดว่า จะมีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพแบบขั้นบันไดจำนวนประมาณ 11 ล้านคน แบ่งเป็น

  • อายุ 60-69 ปีจำนวน 6.3 ล้านคน 
  • อายุ 70-79 ปี จำนวน 3.2 ล้านคน 
  • อายุ 80-89 ปี จำนวน 1.3 ล้านคน 

หากจำกัดวงเงินการช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะทำให้สามารถประหยัดงบประมาณไปได้มาก

ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังได้วางแนวทางเลือกจัดสรรเบี้ยผู้สูงอายุเฉพาะผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไว้หลายแนวทาง ยกตัวอย่าง การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้ารายละ 3,000 บาท (ตามนโยบายพรรคการเมืองที่หาเสียงในปัจจุบัน) กรณีนี้ รัฐจะมีภาระรายจ่ายต่อปีเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว หรืออยู่ที่เกือบ 2 แสนล้านบาท แต่หากใช้แนวทางการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุอัตราเดิมแบบขั้นบันไดที่ 600,700,800,1,000 บาท รัฐจะมีภาระรายจ่ายต่อปีที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท หรือ ลดลงราว 50% จากรายจ่ายดังกล่าวในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปัจจุบันมีอยู่จำนวนประมาณ 5  ล้านคน ใช้แนวทางจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้าแบบขั้นบันได รัฐมีภาระรายจ่ายอยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลตั้งวงเงินงบประมาณสำหรับจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ก่อนหน้านี้ วงเงินรายจ่ายดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปีเท่านั้น