คลังหาช่องอุ้มแบงก์รัฐ รับมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9

02 ส.ค. 2566 | 03:25 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2566 | 03:26 น.

คลังชี้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 กระทบแบงก์รัฐขนาดเล็กที่มีหนี้เสียสูง หลังต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น พร้อมหาช่องดูแล เล็งใช้เงินกองทุน SFIF อุ้ม ฝั่ง “สมาคมแบงก์รัฐ” แนะลดต้นทุน นำเงินมากันสำรอง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรฐานบัญชีใหม่ (Thai Financial Reporting Standard: TFRS9) ที่จะเริ่มใช้ในปี 2568 นั้น จะมีผลต่อธนาคารของรัฐขนาดเล็ก และสถาบันการเงินที่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูง เนื่องจาก TFRS9 จะส่งผลให้สถาบันการเงินจำเป็นต้องมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง

 

อย่างไรก็ตาม หากต้องการผ่อนปรนเงื่อนไขของ TFRS 9 ต้องหารือกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหาแนวทางและมาตรการช่วยเหลือต่อไป 

ทั้งนี้ หนึ่งในแนวทางในการบรรเทาผลกระทบจากการนำมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ TFRS 9 มาใช้นั้น กระทรวงการคลัง อาจเสนอให้นำเงินจากกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) มาช่วยสนับสนุนเงินตั้งสำรองของแบงก์รัฐที่มีความจำเป็นต้องเพิ่มเงินสำรองตามมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ เพื่อลดผลกระทบให้กับสถาบันการเงินของรัฐขนาดเล็ก

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานสมาคมสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ กล่าวว่า ในกรณีที่สถาบันการเงินของรัฐ บางแห่งจำเป็นต้องกันเงินสำรองเพิ่ม ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 นั้น หนึ่งในแนวทางที่สามารถทำได้คือการลดต้นทุนของธนาคาร เพื่อนำเงินทุนไปเป็นสำรองเพิ่มขึ้นตามมาตรฐาน TFRS 9 

ขณะที่ในส่วนของธนาคารออมสินนั้น ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องการปฏิบัติตามมาตรฐาน TFRS 9 เนื่องจากธนาคารมีการตั้งสำรองรองรับไว้แล้ว

สำหรับกองทุน SFIF ดังกล่าว ถูกตั้งขึ้นตามกฎหมาย เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้มีความมั่นคง และมีเสถียรภาพ โดยให้สถาบันการเงินของรัฐ ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนในอัตรา 0.25% ของยอดเงินฝาก หากนำวงเงินดังกล่าวไปช่วยสนับสนุนการตั้งสำรองเพิ่มรองรับมาตรฐาน TFRS 9 จะต้องดูรายละเอียดอีกครั้งว่าสามารถทำได้หรือไม่ 

"กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมในการดูแลธนาคารของรัฐ เพื่อรองรับมาตรฐาน TFRS 9 แล้ว"

ทั้งนี้ มองว่ามาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 ทำให้การปล่อยสินเชื่อเพื่อสังคมทำได้ยากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันตามมาตรฐานบัญชี หากปล่อยสินเชื่อใหม่ 100 บาท ธนาคารจะต้องสำรองทันที่ 1% ของ 100 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ถ้าสินเชื่อค้างชำระเกิน 90 วัน เป็น NPL  ธนาคารต้องเพิ่มสำรองจาก 1 บาท เป็น 100 บาท แต่มาตรฐานบัญชีใหม่ ถ้าปล่อยสินเชื่อ 100 บาท ไม่ต้องสำรอง 1 บาท จะต้องสำรองตามความเสี่ยงจริงของสินเชื่อในแต่ละประเภท 

ยกตัวอย่าง เช่น สินเชื่อ 100 บาทที่อยู่ในพอร์ตนี้ มีประวัติเคยเป็นหนี้เสีย 20%  ดังนั้น วันที่ปล่อยสินเชื่อ 100 บาทสำรองทันที 20 บาท  ดังนั้น หากสินเชื่อในกลุ่มหนึ่งมีความเสี่ยงแล้วต้องกันสำรองเพียง 10%  ขณะที่ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคารอยู่เพียง 2% หมายความว่า สินเชื่อในกลุ่มนี้แม้ธนาคารปล่อยออกไปแล้ว  5 ปี ยังไม่คุ้มทุน ซึ่งเป็นความเสี่ยง

“หากเปลี่ยนไปใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ ธนาคารของรัฐจะช่วยคนยากขึ้น  เนื่องจากต้องมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นตามความเสี่ยงของสินเชื่อ ส่วนธนาคารพาณิชย์ซึ่งไม่อยากปล่อยสินเชื่อฐานรากที่มีความเสี่ยงสูง ก็จะยิ่งไม่ปล่อยมากขึ้นเพราะปล่อยกู้แล้วขาดทุนเลย แต่แบงก์รัฐยังต้องปล่อยอยู่  และมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 นี้ไม่ได้มีผลเฉพาะกับหนี้ในอนาคตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหนี้ในอดีตทั้งหมดของธนาคารด้วย ซึ่งจะทำให้การตั้งสำรองเพิ่มสูง”