(2 ส.ค. 66) ธนาคารกสิกรไทย วางยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตธุรกิจในระยะยาวเปิดตัว บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด "KIV" (KASIKORN INVESTURE: KIV) เพิ่มความคล่องตัวในการรุกธุรกิจให้บริการการเงินกับลูกค้ารายย่อย พร้อมใช้ศักยภาพของพันธมิตรร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ของธนาคาร
เพื่อให้สามารถลดต้นทุนธุรกิจ และลดต้นทุนความเสี่ยงด้านเครดิต ปัจจุบัน บริษัทที่อยู่ในโครงสร้างของเคไอวีประกอบด้วย 14 บริษัท มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด หรือ KIV ถือเป็นบริษัทโฮลดิ้งภายใต้กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย เพื่อลงทุนในบริษัทร่วมกับพันธมิตร
บนยุทธศาสตร์ของธนาคารที่มุ่งเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า (Empower Every Customer's Life and Business) โดย KIV จะมีบทบาทสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งของธนาคารและพันธมิตร เพื่อสร้างรายได้บนความเสี่ยงที่คุ้มค่า ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม
"ธนาคารได้ปรับรูปแบบการบริหารจัดการของเคไอวี โดยมีคุณพัชร สมะลาภา เข้าดำรงตำแหน่ง Group Chairman ของ เคไอวี และแยก KIV ออกมา เพื่อทำให้มีความยืดหยุ่น และคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ขยายความร่วมมือกับพันธมิตร ภายใต้การใช้ศักยภาพที่มีอยู่ของธนาคารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ธนาคารมั่นใจว่า การปรับครั้งนี้จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในการให้บริการการเงินกับกลุ่มลูกค้ารายย่อย และสร้างรายได้ใหม่ให้กับธนาคารทำให้ธนาคารมีกำไรทางธุรกิจที่สูงกว่าธนาคารบริหารจัดการเอง รวมทั้งทำให้ธนาคารมีการเติบโตต่อเนื่องอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน" นางสาวขัตติยา กล่าว
ด้านนายพัชร สมะลาภา Group Chairman ของ บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด ระบุว่า เป้าหมายของทาง KIV คือการเพิ่มความสามารถในการให้บริการการเงินกับกลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งมีโจทย์สำคัญคือ ต้องลดต้นทุนการดำเนินงาน (Operating Cost) และการลดต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Cost)
เพื่อให้ยังคงความสามารถในการสร้างกำไรของธุรกิจ โดยการดำเนินงานเน้นความเชี่ยวชาญของพันธมิตรในแต่ละด้าน รวมกับการใช้โครงสร้างและทรัพยากรของธนาคารกสิกรไทยที่มีอยู่แล้ว ทั้งจำนวนลูกค้ากว่า 20 ล้านราย K PLUS เงินทุน ข้อมูลไอที และสาขา ซึ่งทำให้เคไอวีมีความเข้าใจลูกค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
รวมทั้งยังสามารถให้บริการการเงินที่ครอบคลุมความต้องการของกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย เจ้าของร้านค้ารายเล็กกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการเงินทุนเสริมสภาพคล่อง ให้สามารถใช้บริการการเงินในระบบได้มากขึ้น
ทั้งนี้ในปัจจุบัน บริษัทที่อยู่ในโครงสร้างของเคไอวี ประกอบด้วย 14 บริษัท มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท
นอกจากนี้นายพัชร กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือเงินกู้ของผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยยังเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยาก จึงทำให้ประชาชนต้องหันไปพึ่งการกู้ยืมนอกระบบ
โดยเป้าหมายหลักของ กสิกร อินเวสเจอร์ จะมุ่งเน้นบทบาทในการช่วยเหลือรายย่อย ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อตอบโจทย์รายย่อยที่ไม่มีวงเงิน ไปหมุนธุรกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ในปัจจุบันระบบ Non Bank มีวงเงินหมุนเวียนกว่า 1.85 ล้านล้านบาท แต่ลูกค้ารายย่อยยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เพราะต้องใช้บุคคลค้ำประกันหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้ยืมเงิน
อย่างไรก็ตามอัตราดอกเบี้ยที่ทาง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้สำหรับรายย่อยไม่เกิน 25% ต่อปี ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายในการบริหารจัดการ
แต่เนื่องจากการเก็บอัตราดอกเบี้ยที่ 25% ต่อปีจะต้องใช้ระยะเวลา 7 ปีจึงจะสามารถคืนทุน บนเงื่อนไขที่จะต้องไม่มีหนี้เสีย (NPLs) แม้แต่รายเดียว เพราะหากมีหนี้เสียหนึ่งรายจะต้องมีหนี้ดีถึง 10 รายจึงจะสามารถทดแทนหนี้เสียได้
ทั้งนี้หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกลูกค้าของ กสิกร อินเวสเจอร์ จะมุ่งเน้นไปที่ลูกค้ารายย่อยที่มีคุณภาพดี และการปล่อยเงินกู้ ที่สามารถเก็บเงินกลับมาได้ โดยให้ความสำคัญในเรื่องการลดต้นทุนในการดำเนินงานเป็นหลัก
ส่วนเรื่องเงินทุนของ กสิกร อินเวสเจอร์ ในการดำเนินธุรกิจนั้น มีความได้เปรียบกว่าที่อื่นๆ เนื่องจากบริษัท เป็นบริษัทลูกของ ธนาคารกสิกรไทย หากจะมีการกู้ยืมเงินจากบริษัทแม่ก็จะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่งรายอื่น
ขณะที่ในระยะข้างหน้าทาง กสิกร อินเวสเจอร์ จะขยับมูลค่าการลงทุนจาก 30,000 ล้านบาท ในปี 2566 เพิ่มเป็น 65,000 ถึง 70,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี
ซึ่งในปีนี้คาดว่าทางบริษัทจะมีกำไรประมาณ 900 ถึง 1,100 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 4,500 ถึง 5,000 ล้านในอีก 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้จะเพิ่มการลงทุนจาก 14 บริษัทที่ลงทุนอยู่เพิ่มเติมอีก 3 ถึง 4 รายในอนาคต