แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะทยอยฟื้นตัวขึ้น แต่การฟื้นตัวของภาคส่วนต่างๆ ยังไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุน ส่วนหนึ่ง เพราะการขาดหลักประกันในการกู้ยืม ทำให้การลงทุนภาคเอกชนของไทยอยู่ในระดับต่ำและกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
ดังนั้น แนวทางหนึ่งในการแก้ไข ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เสนอแนะว่า ควรเร่งสร้างกลไกค้ำประกันความเสี่ยงการกู้ยืมโดยภาครัฐ (credit guarantee mechanism) ที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้ สง. รับความเสี่ยงและกล้าที่จะปล่อยกู้สินเชื่อให้ SMEs ได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของ เศรษฐกิจการเงินต่อไป
ขณะที่ล่าสุด ธปท.รายงานความคืบหน้ามาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ว่า ธปท.อนุมัติสินเชื่อแล้ว 242,917 ล้านบาทจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 63,999 ราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ย 3.80 ล้านบาทต่อราย จากวงเงินรวมทั้งสิ้น 275,886 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินเบื้องต้น 250,000 ล้านบาทและวงเงินคงเหลือจากโครงการพักทรัพย์พักหนี้ที่โอนมาอีก 25,886 ล้านบาท
สำหรับสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติแบ่งตามวงเงินสินเชื่อเดิมเป็นผู้ประกอบการ SMEs (วงเงินสินเชื่อเดิม 5-50 ล้านบาท) จำนวน 96,104.03 ล้านบาท ลูกหนี้ที่ได้รับอนุมัติ 23,317 ราย รองลงมาเป็นธุรกิจรายใหญ่ (วงเงินสินเชื่อเดิม 50-500 ล้านบาท) จำนวน 64,747.10 ล้านบาท ตามมาด้วยลูกหนี้ใหม่ จำนวน 50,701.26 ล้านบาท ลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 13,868 ราย และลูกหนี้ Micro (วงเงินสินเชื่อเดิมไม่เกิน 5 ล้านบาท) จำนวน 31,364.32 ล้านบาท ลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 22,927 ราย
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาผลประกอบการครึ่งแรกปี 2566 ของธนาคารพาณิชย์พบว่า
ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา มียอดคงค้างสินเชื่อ SMEs เพิ่มขึ้น 9.19% หรือ 28,005 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากจำนวน 304,674 ล้านบาทเป็น 332,679 ล้านบาท โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากสินเชื่อสำหรับวิสาหกิจขนาดย่อม สะท้อนความเชื่อมั่นของภาคการผลิตและบริการที่ปรับเพิ่มขึ้น
ส่วนธนาคาร กรุงไทย มียอดคงค้างสินเชื่อเอสเอ็มอี 297,562 แสนล้านบาท ลดลง 29,027 ล้านบาทคิดเป็น 8.9% จาก 326,539 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน
ธนาคาร ไทยพาณิชย์ มียอดคงค้างสินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น 1.4% เป็นจำนวน 420,312 ล้านบาทจาก 414,328 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนเงินให้สินเชื่อรวมปีนี้เพิ่มขึ้น 2.7% เป็นจำนวน 2.42 ล้านล้านบาท (ณ สิ้นเดือนมิ.ย66) และเพิ่มขึ้น 3.2% จากสิ้นปีก่อน การเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากสินเชื่อในลูกค้ากลุ่มเป้าหมายสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยชั้นดีหรือ Small SME และลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทิศทางผู้ประกอบการ SMEs ไทยในช่วงครึ่งหลังของปี ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการเมืองภายในประเทศ สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวว่า จะเป็นไปตามคาดหมายหรือไม่ ประกอบกับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น น่าจะกระทบต้นทุน
ปัจจัยหล่านี้ จะต้องจับตามดูระยะสั้นและผู้ประกอบการ SMEs ต้องปรับตัว เพราะแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น น่าจะกระทบในแง่ของต้นทุน ดังนั้นในแง่ของการลงทุน ก็ต้องระมัดระวังเรื่องสภาพคล่อง ซึ่งต้องสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสม โดยเฉพาะความสามารถในการแข่งขันและความโปร่งใส
“ปัจจัยเสี่ยงที่ยังมีความไม่แน่นอน ทั้งการเมืองในประเทศ สถานการณ์สงครามในต่างประเทศ ซึ่งบางส่วนเป็นคู่ค้าของผู้ส่งออกไทย ซึ่งพวกนี้ยังต้องเฝ้าระวัง ส่วนคุณภาพสินเชื่อเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ ทุกแบงก์กันสำรองกันมาอย่างต่อเนื่องแล้ว” นายศิริเดช กล่าว
ขณะที่ภาพใหญ่ของ SMEs เป็นที่รู้กันว่า หลังวิกฤติโควิด-19 บางส่วนกลับมาทำธุรกิจได้ แต่หากใครไม่ปรับตัว ไม่หาโอกาสใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ หรือรูปแบบการนำเสนอ โดยเฉพาะการปรับตัวเป็นดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ส่วนเรื่องเงินทุนนั้น เป็นเพียงหนึ่งองค์ประกอบเท่านั้น
ต่อข้อถามถึงความจำเป็นของมาตรการจากภาครัฐนั้น นายศิริเดช กล่าวว่า SMEs ยังต้องการความใส่ใจจากภาครัฐ โดยนอกจากการสร้างอีโคซิสเต็มในการเพิ่มประสิทธิภาพ ในการทรานฟอร์ม โดยเฉพาะการดึงผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ เพื่อรองรับมาตรฐานต่างๆ ไม่ว่า ด้านบริหารจัดการระบบ เน้นความโปร่งใส หรือความสามารถในการแข่งขัน และแม้กระทั่งด้านสิ่งแวดล้อม
“ส่วนการใช้สินเชื่อเพื่อการปรับตัวนั้น ลูกค้าแบงก์กรุงเทพน่าจะใช้เยอะสุด จริงๆ การทรานฟอร์มยังทำกันน้อย ทั้งๆ ที่แบงก์ก็พยายามให้การสนับสนุน โดยเฉพาะ SMEs ที่เป็นสเกลเล็กและกลางจะเสียโอกาสให้กับรายใหญ่หมด ถ้าไม่ปรับตัว” นายศิริเดชระบุ
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,910 วันที่ 3 - 5 สิงหาคม พ.ศ. 2566